นโยบายแจกเงินดิจิทัล ชี้ชะตารัฐบาลเพื่อไทย รอดเพื่อ "เกิดใหม่"

14 พ.ย. 2566 | 10:40 น.

นักวิชาการ ชี้ รัฐบาลเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สส.-สว. ตัวแปรผ่าทางตัน รอดเพื่อเกิดใหม่ ผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

จากกรณีที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อมาดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีคำถามตามมาว่า การออก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวอาจจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 140 ประกอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2560 มาตรา 53 ได้หรือไม่ นั้น

ดร.สติธร ธนานิติโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สะท้อนมุมมองและให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจโดยตั้งข้อสังเกตว่า การออก พ.ร.บ.ดังกล่าว รัฐบาลมีโอกาส "ทำได้" และมีโอกาส "ขัดรัฐธรรมนูญ" ได้เท่า ๆ กัน 

ประเด็นแรก ทำได้โดยรัฐบาลดำเนินการไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่เตรียมไว้ นั่นคือ ดำเนินการออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ โดยรัฐบาลสามารถที่จะอธิบายกับสมาชิกรัฐสภา (สส. และ สว.) ว่า การดำเนินการออกกฎหมายฉบับนี้นั้นสอดคล้องในสองประเด็นหลัก คือ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องไปชี้แจงเหตุผลและอธิบายในรัฐสภาเพื่อผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปตามกระบวนการ 

"ปัจจัยสำคัญ คือ สส. และ สว. จะเป็นคนช่วยผ่าทางตันให้ นโยบายดี ไม่ดี ไม่รู้ แต่ สส.และสว. ช่วยกันยกมือ เข็น พ.ร.บ.ฯ ออกมาด้วยเสียงข้างมาก สองสภาช่วยกันเข็นเหมือนตอนจัดตั้งรัฐบาลซึ่งสถานการณ์วันนั้นอาจจะรู้สึกว่า ดันให้ผ่าน ดีกว่าปล่อยให้ตก ก็ยกมือช่วยกันดันกฎหมายออกมา หลังจากนั้นก็ต้องไปดูผลลัพธ์ของนโยบายที่เกิดขึ้นว่า เป็นอย่างที่พูดไว้หรือไม่ กระตุ้นเศรษฐกิจได้เหมือนอย่างที่บอกก็ต้องไปลุ้นกัน ประเมินกันที่ผลลัพธ์ของนโยบายที่ยืนยันว่า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงอย่างที่พูดไว้ซึ่งก็ต้องรอดูต้องประเมินอาการกันอีกทีหลังนโยบายถูกใช้ไปแล้ว

หากเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับขยายโอกาสให้กับรัฐบาลให้พิสูจน์กันไปอีกระยะหนึ่งเพราะกว่ากระบวนการนี้จะจบก็ต้องใช้เวลาซึ่งเวลาก็ยืดออกไปถึง พ.ค.ซึ่งเวลานั้นใครจะไปทราบได้ว่า อาจจะต้องใช้เม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจจริง ๆ ก็ได้" 

ในทางตรงกันข้ามหากเรื่องนี้ไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ออก พ.ร.บ.ไม่ได้ นโยบายนี้ก็ต้องล้มไป ปัญหาของรัฐบาลก็มีแค่ว่า ถ้านโยบายนี้ล้มไปแล้วรัฐบาลจะมีความผิด จะต้องรับผิดชอบหรือไม่ เช่น นายกฯ ต้องลาออกไหม หรือ ทำอะไรที่ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลบอกว่า ไม่ให้ทำซึ่งรัฐบาลก็อยู่ต่อไป เหมือนกรณีของการออก พ.ร.บ. รถไฟความเร็วสูง ซึ่งศาลก็บอกว่า ทำไม่รัฐบาลก็ไม่ได้ลาออกยังอยู่ต่อไป  

ที่น่าสนใจ ก็คือ เมื่อทำไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลสามารถปลดล็อกได้ว่า ที่ได้แถลงเป็นนโยบายเอาไว้นั้นได้พยายามแล้ว ผลักดันแล้วแต่ติดที่กระบวนการของรัฐสภา ไปตันที่กระบวนการตามปกติ ไม่ใช่ตันเพราะไม่รับผิดชอบ หรือการเพิกเฉยของรัฐบาลที่ไม่ดำเนินการ ซึ่งก็ต้องไปดูสภาพเช่นเดียวกันว่า สังคมและกลุ่มกองเชียร์ต่าง ๆ มองเรื่องนี้อย่างไร รับได้หรือไม่ จะรับได้ในอาการไหนก็ต้องรอดูเช่นกัน

ถามว่า จากนโยบายนี้รัฐบาลกำลังขุดหลุมฝังตัวเองไหมก็มีโอกาสถ้านโยบายนี้ดันผ่านไปได้จริงแล้วเกิดบริหารไม่ดี ไม่เกิดประโยชน์ กลายเป็นแผลเพิ่มให้กับรัฐบาลได้เหมือนกัน ตรงกันข้ามถ้าผ่านไปแล้วสามารถทำได้ดีก็ทำให้รัฐบาล "เกิดใหม่" ได้เหมือนกันเพราะเป็นนโยบายที่มีความเสี่ยง

สถานการณ์ของรัฐบาลที่กำลังเผชิญเวลานี้ คือ ต้องเอาตัวรอด ต้องผ่านไปให้ได้แบบมีแผลให้น้อยที่สุด ความยากลำบากความพยายามในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ถือเป็นความสุ่มเสี่ยงแรกที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องเผชิญเพราะหาเสียงเอาไว้ว่า เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะเดินหน้าทำทันทีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟู เยียวยาประชาชน เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธง เป็นไฟท์บังคับที่จะต้องทำ ดังนั้น เมื่อได้เป็นรัฐบาลจึงต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้  

"มันมีทางลงทางเดียวแต่เมื่อลงไปแล้วจะเปิดประตูออกไปได้ หรือ สุดท้ายเจอทางตัน ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า สภาพของรัฐบาลตอนนั้นจะร่อแร่ขนาดไหน" ดร.สติธร ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวทิ้งท้าย

นโยบายแจกเงินดิจิทัล ชี้ชะตารัฐบาลเพื่อไทย รอดเพื่อ \"เกิดใหม่\"