รายงานพิเศษ : “รัฐบาลเศรษฐา”ลุยไฟกู้แจกเงินดิจิทัล

15 พ.ย. 2566 | 04:14 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2566 | 04:25 น.

รัฐบาลเดินหน้าออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาแจกเงินดิจิทัล ท่ามกลางเสียงคัดค้านส่อขัดรัฐธรรมนูญ และก.ม.วินัยการเงินการคลัง จากยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” มาถึงยุค “รัฐบาลเศรษฐา” การออกพ.ร.บ.กู้เงิน จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ น่าสนใจยิ่ง

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงว่า รัฐบาลจะออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฎีกา เพื่อให้การออกพ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และ ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

“ยืนยันว่าการออก พ.ร.บ. จะมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561” นายกฯและรมว.คลัง ระบุ

ภายหลังการแถลงรัฐบาลจะออกพ.ร.บ. “กู้เงินมาแจก” ปรากฏว่าได้มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นกังวล คัดค้าน และไม่เห็นด้วย 

"คำนูณ"ห่วงขัดรธน.-ก.ม.

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) แสดงความกังวลต่อการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ว่า จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 หรือไม่ เนื่องจากบทบัญญัติระบุชัดเจนว่า การออกกฎหมายพิเศษกู้เงินนั้นทำได้เฉพาะกรณีมีความ “จำเป็นเร่งด่วน” ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้วิกฤตของประเทศ โดยไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน หากเข้า 4 เงื่อนไข จึงจะสามารถออกกฎหมายพิเศษกู้เงินได้

"ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจะเข้าสู่สภาฯ ในเดือน ธ.ค.นี้ ดังนั้น การบรรจุเงินที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ลงไปในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะปลอดภัยกว่า และอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ทัน ซึ่งการที่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แล้วมาออกพ.ร.บ.กู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท ผมเห็นว่าจะเป็นการเสี่ยงต่อการขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลังได้" 

“กรณ์”ชี้ขัดวินัยการคลัง

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ออกมาแสดงความวิตกเช่นกันว่า ถ้าผ่านด่านกฎหมายแล้วกู้ได้ แจกได้ ก็จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจ สำคัญที่สุด การออก “พ.ร.บ.กู้มาแจก” เป็นวิธีการที่ขัดต่อหลักวินัยการคลังอย่างให้อภัยไม่ได้จริงๆ และเชื่อว่าส่อขัดหลักกฎหมายด้วย
นายกรณ์ ยังยกตัวอย่างว่า เคยมี 2 รัฐบาลที่คิดจะออก “พ.ร.บ.กู้เงิน” หนึ่งในนั้นคือ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” 

พร้อมระบุว่า การออกเป็น พ.ร.บ.กู้มาแจก ไม่เคยมีใครทำ และไม่ควรทำได้ เพื่อไทยรู้ดีเพราะเป็นรัฐบาลที่สอง ที่คิดจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน (กรณีกู้เงิน 2 ล้านล้าน) ตนเป็นหนึ่งในคนที่ทำเรื่องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ผลสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ตีกฎหมายนี้ตกไป เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญหมวดวินัยการคลัง

                              รายงานพิเศษ : “รัฐบาลเศรษฐา”ลุยไฟกู้แจกเงินดิจิทัล

ถ้าขัดก.ม.รัฐบาลอยู่ยาก 

นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังว่า ระบุชัดว่าการออกพ.ร.บ.เฉพาะต้องเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน และต้องเป็นกรณีที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้วิกฤติของประเทศ หรือโดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน 

แต่พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 อยู่ในกระบวนการจัดทำ จึงสามารถบรรจุไว้ในปีงบประมาณ 2567 ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมต้องมีผู้ส่งตีความและไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากนโยบายแจกเงินดิจิทัล ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดขัดทางกฎหมาย รัฐบาลจะอยู่ยาก 

หวั่นไม่ผ่านกฤษฎีกา 

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่า มีความกังวลว่า การดำเนินนโยบายเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะไม่สำเร็จ พรรคก้าวไกล โดยเฉพาะนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ได้ให้ความเห็นไปแล้ว ว่า ถ้ารัฐบาลเลือกทางนี้ อาจมีข้อกังวลว่ารัฐบาลอาจสะดุดขาตัวเอง และทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายนี้ได้

“เป็นความกังวลของพรรคก้าวไกลเหมือนกันว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ จะถูกล้มโดยขั้นตอนของกฤษฎีกาเลยด้วยซ้ำ ผมว่าทางรัฐบาลหากจะผลักดันนโยบายนี้ต่อต้องคิดแผนสำรองไว้” นายชัยธวัช กล่าว

ชงศาลรธน.วินิจฉัย

ขณะที่เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2566 นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่รัฐบาลตรา พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขัด หรือ แย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ประกอบพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2560 มาตรา 53 หรือไม่

ศาลตีตกพรบ.กู้เงิน

ต่อแนวคิดของรัฐบาลในอดีตที่คิดจะออก “พ.ร.บ.กู้เงิน” เพื่อนำเงินมาดำเนินนโยบายของรัฐบาลนั้น เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2557 ที่ประชุม “ศาลรัฐธรรมนูญ” เคยมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ในยุค รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ ที่เรียกว่า “พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน” มีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาแล้ว จึงเป็นผลให้ร่างกฎหมายฉบับนั้นตกไป 

โดยประเด็นที่ว่า ร่างพ.ร.บ.นี้มีข้อความหรือขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ หรือไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ก่อนที่จะวินิจฉัย มีปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่า เงินกู้ตามร่างพ.ร.บ.นี้เป็น “เงินแผ่นดิน” ตามความหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เห็นว่า คำว่า “เงินแผ่นดิน” ไม่ได้มีการกำหนดความหมายไว้โดยรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายใด 

แต่เมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ประกอบกับความเห็นของพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเงิน การคลัง และ งบประมาณ ตลอดจนบรรดากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า “เงินกู้” ตาม ร่างพ.ร.บ.นี้ เป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญ   

เมื่อ “เงินกู้” ตามร่างพ.ร.บ.นี้ มีลักษณะเป็นเงินแผ่นดิน การใช้จ่ายจึงต้องขึ้นอยู่ในบังคับแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรค 1 ที่บัญญัติ ให้การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย, กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ, กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ  หรือ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง 

เว้น แต่ในกรณี “จำเป็นเร่งด่วน” รัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และต้องตั้งงบประมาณ รายจ่าย เพื่อชดใช้เงินคงคลัง ใน พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณรายจ่าย, พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป

แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตาม ที่ร่างพ.ร.บ.นี้มุ่งประสงค์ ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 2 เพื่อการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม

ดังนั้น การที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว บัญญัติให้เงินกู้ตามร่างพ.ร.บ.นี้ นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง แตกต่างจากที่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินแผ่นดินบัญญัติไว้ ทำให้การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าว ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลัง ดังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และ งบประมาณ

ร่างพ.ร.บ.นี้ ในส่วนดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีผลให้ร่าง พ.ร.บ.ฯ เป็นอันตกไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรค 3 

“รัฐบาลเศรษฐา”จะสามารถลุยออก “พ.ร.บ.กู้เงิน” เพื่อมาทำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ได้หรือไม่ มารอดูกัน... 

                                             +++


รัฐบาลยันรอบคอบแจกเงินดิจิทัล 

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงข้อกังวลโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะมีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท อาจขัดต่อข้อกฎหมาย ว่า มีการพิจารณาข้อจำกัดของกฎหมายและความเห็นต่างๆ ของนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยพิจารณาว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียง ไทยยังมีปัญหา ล้าหลัง ภาวะหนี้สินของประชาชนเพิ่มขึ้นในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 90 ของ GDP จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

                                นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ทั้งนี้ หลังจากออกเป็นนโยบาย ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้พูดคุยหารือและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เนื่องจากสามารถขอฉันทามติผ่านกระบวนการในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถทำได้และเคยทำมาก่อนในหลายรัฐบาล 
สำหรับกรณีที่มีข้อสังเกตถึงการกู้เงินของรัฐบาลเป็นการหาทางลง จะเสี่ยงต่อกฎหมายต่างๆ หรือไม่ เลขาธิการนายกฯ ชี้แจงว่า ข้อสังเกตว่าเป็นการหาทางลง เป็นวิธีคิดของคนที่เป็น Loser (ผู้แพ้) ของคนที่ปรารถนาความพ่ายแพ้ 
แต่คนที่อยากจะเอาชนะใช้ Winner Attitude (ทัศนคติของผู้ชนะ) ซึ่งจะคล้ายกับการหา Solution ร่วม หรือทุกปัญหามีทางออก ซึ่งรัฐบาลพยายามหาทางออกที่ดีที่สุด และต้องการทำให้โครงการนี้สำเร็จ เพราะเชื่อมั่นว่าประชาชนกำลังรอโครงการนี้อยู่กว่า 60-70% รวมทั้งจะส่งผลให้เกิด Micro Investment (การลงทุนทางเลือกหรือทางหลัก) โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปใช้ในการลงทุน 
“รัฐบาลได้ดำเนินโครงการนี้ผ่านการพิจารณา วิเคราะห์ ทุกปัจจัย ตัวแปร และศึกษาข้อมูลทางสถิติ และเชื่อมั่นว่า มีประชาชนจำนวนมากรอคอยเงินจากโครงการนี้เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น”