หมอมิ้ง นพ.พรหมินทร์ เงาทักษิณ มันสมองเพื่อไทย

31 ธ.ค. 2566 | 12:04 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ธ.ค. 2566 | 12:58 น.

ในวาระรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ครบ 108 วัน หมอมิ้ง-นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี สวมบท “นายกฯน้อย” ตั้งโต๊ะแถลงผลงาน-ตอบคำถามนักข่าวทำเนียบ ครบมิติเศรษฐกิจ-การเมือง เขาไม่ต่างอะไรกับเงาของทักษิณ-มันสมองของรัฐบาลเพื่อไทย

โปรไฟล์ทางการเมืองที่คนภายนอก-คอการเมืองบันทึกไว้ให้ หมอมิ้ง หลังการเลือกตั้ง 2544 พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 คือ คนที่ทักษิณไว้ใจที่สุด 

หมอมิ้ง เบื้องหน้า-เบื้องหลังการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทักษิณ 1- ทักษิณ 2 ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

การเลือกตั้ง 66 พรรคเพื่อไทย แต่งตั้งหมอมิ้ง เป็นประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ และประธานคณะกรรมการนโยบายของพรรคเพื่อไทย ถึงขั้นมีข่าวลือว่า จะมีชื่อ หมอมิ้ง เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย คนที่ 3

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 66 พรรคเพื่อไทยผลิตนโยบายหาเสียง-ออกแคมเปญสู้ศึกเลือกตั้ง ทั้งนโยบาย พักหนี้เกษตร 30 บาทรักษาทุกที่ รวมถึงนโยบาย “เรือธง” แจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ภายใต้สโลแกน “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” มาจากมันสมองของหมอมิ้ง 

หลังการเลือกตั้ง แม้พรรคเพื่อไทยจะพ่ายแพ้ครั้งแรกในรอบ 22 ปี ไม่ได้เป็นพรรคอันดับ 1 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจของคสช.ปี 60 มี สว.250 คนมาจากการสรรหาของพล.อ.ประยุทธ์ ส่งผลให้พรรคก้าวไกล พรรคที่ได้ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งถูกเขี่ยไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน

ขณะที่พรรคเพื่อไทยจับมือกับ “พรรคสองลุง” และกลุ่มอำนาจเก่า-ผสมพันธุ์ข้ามขั้ว  จัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียงได้สำเร็จ และเป็นจุดเริ่มต้นในการกลับมาของ หมอมิ้ง ในฐานะเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอีกคำรบ ในรอบ 18 ปี 

ประวัติที่หมอมิ้งเขียนบันทึกไว้ให้กับตัวเอง ในหนังสือ “พรหมไม่ได้ลิขิต พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” ที่แจกให้กับนักข่าวทำเนียบในวาระครบ 108 วัน พร้อมลายเซ็น เหมือนเป็นการแนะนำตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

"หมอมิ้ง" หรือ “ลีผ่งมิ้ง” ที่แปลความหมายตามภาษีจีน ว่า “ประชาชน” เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ตระกูล “แซ่ลี้”

หมอมิ้ง สอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้ลำดับที่ 27 อยู่ห้องคิง เรียนจนจบ ม.ศ.1- ม.ศ.5 มีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง จาตุรนค์ ฉายแสง คำนูณ สิทธิสมาน และรุ่นพี่เรียนเก่งอย่าง ธีรยุทธ บุญมี พิสิฐ ลี้อาธรรม  

เจ้าของรุ่น ส.ก.รุ่น 87 เป็น “หัวหน้าห้อง” ตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1 จนกระทั่งขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้รับเลือกตั้งเป็น “ประธานนักเรียน” ความใฝ่ฝันคือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นที่ 1 ของประเทศ แม้สุดท้ายจะสอบได้อันดับที่ 6 ของโรงเรียนและอันดับที 30 ของประเทศก็ตาม 

อย่างไรก็ดี หมอมิ้ง สอบได้ที่ 4 ของคณะแพทย์ มหิดล และเป็นประธานนักศึกษาปี 1 มี "แพทย์หญิคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์" เป็นเพื่อนนักศึกษาแพทย์รุ่นเดียวกัน-นั่งติดกัน

หมอมิ้ง เป็น สส.(ฝึกหัด) สมัยแรก ในนาม "พรรคแนวร่วมมหิดล" ที่มี "หมอเหวง" นพ.เหวง โตจิราการ นักศึกษาปี 6 เป็นหัวหน้าพรรค โดยหมอมิ้ง นักศึกษา ปี 2 ได้รับคะแนนจากเพื่อนนักศึกษาเป็นอันดับ 1 และได้รับการหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล

เขาถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมือง เป็นแกนนำศึกษาคนสำคัญอยู่ในวงล้อมล้อมปราบ-ดงกระสุน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 และ 6 ตุลาคม 19 จนต้องเข้าป่าจับปืนเป็นเวลานานกว่า 4 ปี ก่อนออกจากป่ากลับมาศึกษาต่อนักเรียนแพทย์ปี 4 เทอม 1 จนสำเร็จการศึกษา 

หมอมิ้ง เริ่มต้นเป็น "แพทย์ฝึกหัด" ที่โรงพยาบาลชนบทในจังหวัดขอนแก่น ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองสิงห้อง โรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง 

หลังจากนั้น 3 ปีครึ่ง หมอมิ้ง ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพล ขนาด 60 เตียง เป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะมารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย ในกองแผนงานกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น กับ "หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์" 

ชีวิตวนลูปอีกครั้งต้องมาเดินเฉียดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี35 แม้ไม่ได้ข้องแวะโดยตรงในฐานะแกนนำนักศึกษา แต่เป็นเพียงผู้สังเกตุการณ์ และแพทย์สนามเฉพาะกิจ 

หลังใช้วิชาชีพหมอในโรงพยาบาลขอนแก่นและรับราชการในกระทรวงสาธารณสุข 8 ปี หมอมิ้ง ต้องตัดสินใจเบนเข็มชีวิตครั้งสำคัญลาออกจากข้าราชการ

อดีตหมอนอกราชการเข้ามาทำงานในบริษัทเอกชน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 ตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเตอร์เนชั่นเนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IBC ที่มี "ทักษิณ ชินวัตร" เป็นเจ้าของบริษัท 

หมอมิ้ง ได้พบ-สนทนาสั้นๆ กับทักษิณ-นายใหม่ เป็นครั้งแรก 15 นาที ต่อมา หมอมิ้ง ไปรับตำแหน่งเป็น ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไอบีซี กัมพูชา จำกัด 

หมอมิ้ง กระโจนลงมาเล่นการเมืองร่วมหัวจมท้ายกับทักษิน หลังได้รับมอบหมายให้คิดแคมเปญ "พลิกเมืองไทยให้แข่งกับโลก" ให้กับทักษิณใช้ในการหาเสียง ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ลงรับสมัครครั้งแรกในพื้นที่ กทม.เขต 2 

หลังจากนั้น หมอมิ้ง ก็ไม่เคยห่างหายจากขบวนอำนาจของทักษิณชนิดเป็นเงาตามตัว ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2544 และ การชนะถล่มทลาย 377 เสียง เป็นรัฐบาลพรรคเดียว เมื่อปี 2548 

นโยบายหาเสียงของทักษิณมาจากมันสมองของหมอมิ้ง เช่น กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ต่างจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน