ภายหลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลได้รับคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับคำถามที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบว่า รัฐบาลโดย ครม. และคณะกรรมการแจกเงินดิจิทัลมีอำนาจตามกฎหมายที่ทำได้ แต่ต้องดำเนินการภายใต้มาตรา 53 และ 57 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
ทั้งนี้ มาตรา 53 ระบุว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติ ของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน
ส่วนมาตรา 57 การกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะกระทําได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่าย ตามแผนงาน หรือ โครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม นอกจากนี้ กฤษฎีกาแนะนำให้การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท จะต้องเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน
ต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 ว่า ที่ประชุม ครม.ยังไม่หารือเรื่องโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพราะต้องรอการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตก่อน ซึ่งตนต้องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย
“ถ้าถึงเวลาอันสมควรจะเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบเอง และจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินแน่นอน ทุก ๆ เรื่องมีความหนักใจ เพราะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง รัฐบาลมีความพร้อมตอบข้อสงสัยทุก ๆ เรื่องจากทุกฝ่าย”
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สิ่งที่กฤษฎีกาตอบมา ไม่ได้บอกว่าทำได้หรือไม่ได้ แต่ให้ข้อเสนอแนะที่ต้องฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน จึงต้องประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต เชื่อว่าโครงการไปต่อได้ ณ เวลานี้ยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม
จี้รัฐบาลหาทางลง
นายตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการออกพ.ร.บ.เงินกู้ในลักษณะนี้ไม่เคยประสบความสำเร็จ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งสุดท้ายเรื่องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ การออกพ.ร.บ.กู้เงินครั้งนี้ของรัฐบาลนายเศรษฐา เชื่อว่าจะเป็นเช่นเดียวกัน
“สิ่งที่รัฐบาลต้องอธิบายให้ได้อันดับแรกคือ ที่ระบุว่าประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร เพราะถ้าดูจากตัวเลขงบประมาณ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ ขณะที่นายกฯ เดินสายเชิญชวนทุกประเทศทั่วโลกมาลงทุน แต่กลับบอกคนในประเทศว่าเรากำลังวิกฤติ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากสถานการณ์ช่วงปีใหม่ การเดินทางสัญจรไปมาของประชาชนกลับภูมิลำเนาคึกคักมาก อธิบายปรากฏการณ์ได้ว่าไม่ใช่ช่วงวิกฤติของประเทศ ไม่เหมือนช่วงสถานการณ์โควิด 19 หรือ ช่วงภาวะสงคราม มองว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ปกติ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วยวิธีอื่น
นายตวง กล่าวว่า การตีความตามความเห็นกฤษฎีกา ไม่ได้เป็นการบอกตรง ๆ ซึ่งมองว่า “กฤษฎีกาฉลาด” ขอให้ย้อนกลับไปดูความเห็นของกฤษฎีกาในอดีตทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่เคยบอกว่าโครงการไหนทำไม่ได้ แม้แต่การเขียนจดหมาย กฤษฎีกาจะไม่บอกว่าผิดหรือถูก อยู่ที่คนบริหารราชการแผ่นดินว่าจะใช้วิจารณญาณอย่างไร จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลว่าให้ยอมรับความจริง และทบทวน
โครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กฤษฎีก็ไม่ได้บอกว่าผิด ถ้ารัฐบาล นายเศรษฐา จะเดินหน้าต่อ เชื่อว่าจะมีผู้ยื่นเรื่องร้อง ไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งฝ่ายค้านหรือภาคประชาชน ซึ่งศาลเคยวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้มาแล้ว
“รัฐบาลอาจจะรู้อยู่แก่ใจว่า เป็นเรื่องยากและอาจจะมีธง หรือ อาจเป็นข้ออ้างเพื่อเดินหน้าต่อในทางการเมือง เพราะทุกเรื่องต้องมีทางลง เห็นใจรัฐบาลเหมือนกันว่าจะลงอย่างไร เพราะประกาศตั้งแต่หาเสียง ขึ้นอยู่กับว่าจะลงอย่างไรให้มีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรี และสง่างาม ในอดีตทางที่คนเคยลงคือ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรู้คำตอบอยู่แล้ว” นายตวง กล่าว
แนะตีความวิกฤติเศรษฐกิจ
ด้านนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า การที่กฤษฎีกามีความเห็นว่าสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข พ.ร.บ.การเงินการคลัง มาตรา 53 เกี่ยวข้องกับวิกฤติของประเทศ และมาตรา 57 เกี่ยวข้องกับความคุ้มค่าในการดำเนินการ
“คำว่าวิกฤติทั่วไปจะต้องเป็นกรณีเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจน และยาวนาน รวมทั้งประเทศเผชิญความยากลำบาก มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ ความรุนแรง ระยะเวลาการชะลอตัวที่ยาวนาน รวมถึงขอบเขตของผลกระทบเป็นวงกว้างและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในภาคส่วนต่างๆ
และมีปัญหาความไม่มั่นคงทางการเงิน เช่น ความล้มเหลวของธนาคาร หรือราคาสินทรัพย์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่บางคนอาจจะมองแค่ว่าการชะลอเศรษฐกิจหลายไตรมาสติดต่อกัน หรือเทียบระหว่างไตรมาสนี้ปีนี้กับไตรมาสนี้ของปีที่แล้ว ถ้าติดลบก็ถือว่าวิกฤติ จึงอยู่ที่คำนิยาม ว่าจะเป็นอย่างไร
“ขอเสนอว่าทางที่ดีรัฐบาลควรเรียกประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจของประเทศ การคลัง สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปรึกษา และตกลงกันว่าคำว่านิยามเศรษฐกิจ ตามความหมายของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เป็นอย่างไร ถึงขั้นวิกฤตหรือยัง เพราะถ้าไม่ให้ชัดเจนก็สุ่มเสี่ยงจะมีการโต้แย้งวิวาทะทางวาจาและทางคดีมากมาย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต”
“กฤษฎีกา”ปัดไฟเขียว
ขณะที่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวภายหลังประชุม ครม. ถึงเรื่องการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า ยังไม่มีคำว่า “ไฟเขียว” เนื่องจากกฤษฎีกาตอบได้เพียงข้อกฎหมายเท่านั้น ซึ่งต้องดูว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 53 มีอะไรบ้าง โดยเงื่อนไขจะต้องเป็นเรื่องที่แก้ไขอย่างเร่งด่วน และต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่
ส่วนข้อเสนอแนะที่ให้ไปมีอะไรบ้างนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีอะไร เป็นเพียงการอธิบายมาตรา 53 ที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์
“เรายึดตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และ มาตรา 9 รวมทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฉะนั้นยืนยันว่า หากทำตามแล้วปลอดภัยแน่นอน”
“จุรินทร์”จี้รัฐบาลตอบ 7 ปม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลควรเปิดเผยคำถาม คำตอบ ที่สอบถามกฤษฏีกาไป ไม่ควรเก็บเป็นความลับ เพราะเป็นการสร้างหนี้ก้อนใหญ่ถึง 5 แสนล้านบาท ให้กับประเทศในอนาคต คนไทยทั้งประเทศควรมีสิทธิ์รับรู้ และไม่ว่ากฤษฎีกาจะตอบว่าอย่างไร กฤษฎีกาก็ยังเป็นแค่ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล แต่การตัดสินใจเป็นของรัฐบาล
เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ หรือ ในทางกฎหมายตามมา รัฐบาลต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ตัดสินใจและในฐานะเจ้าของนโยบาย
อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูว่าท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร จะยังยืนยันเสนอ พ.ร.บ.กู้เงินอยู่หรือไม่ หมายความว่ ารัฐบาลจะตัดสินใจไปเสี่ยงเอาดาบหน้าหรือไม่ ซึ่งมีอย่างน้อย 7 ปม ที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาโดยรอบคอบ ทั้งใน ข้อกฎหมาย และในทางเศรษฐกิจ คือ
1.จำเป็นหรือไม่ 2.เร่งด่วนหรือไม่ 3.ต่อเนื่องหรือไม่ 4.วิกฤติหรือไม่ 5.ไม่สามารถตั้งเงินก้อนนี้ไว้ในงบประจำปีได้ทันใช่หรือไม่ 6.มีความคุ้มค่าหรือไม่ และ 7. ได้รับฟังความคิดเห็นโดยรอบด้านแล้วใช่หรือไม่
...มารอดูกันว่า “รัฐบาลเศรษฐา” จะเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัลอย่างไร ยังจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เต็มวงเงิน 500,000 ล้านบาท ต่อไปหรือไม่ หรือ จะแก้ไขปรับลดวงเงินกู้ลงหรือไม่...