จุลพงศ์ หวั่น ออกพันธบัตรรัฐบาล ดิจิทัลวอลเลต 5 แสนล้าน ซ้ำเติม หุ้นกู้

11 ม.ค. 2567 | 04:45 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2567 | 05:01 น.

จุลพงศ์ สส.ก้าวไกล อดีตประธานบอร์ดแบงก์มาเลเซีย หวั่น ออกพันธบัตรรัฐบาลกู้เงิน ดิจิทัลวอลเลต 5 แสนล้าน ซ้ำเติม หุ้นกู้ หนุน ธปท.กดดัน แบงก์พาณิชย์ ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก แนะ กนง.ยึดหลักวิชาชีพ-อิสระ เคาะดอกเบี้ยนโยบาย 7 กุมภาฯ

วันนี้ (11 มกราคม 2567) ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ  อดีตประธานคณะกรรมการ ธนาคาร RHB Bank ประเทศมาเลเซีย แถลงข่าวกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับกระทรวงการคลัง เรื่องการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเลต วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาทได้ ภายใต้เงื่อนตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ว่า หากรัฐบาลเลือกใช้วิธีกู้เงินโดยการออกพันธบัตรจะเป็นการซ้ำเติมตลาดหุ้นกู้ ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาหุ้นกู้ผิดนัดชำระอยู่แล้วให้มีปัญหาเพิ่มมากขึ้น

นายจุลพงศ์กล่าวว่า ปัญหาแรก การแข่งขันเรื่องดอกเบี้ยหุ้นกู้จะสูงขึ้น เพื่อให้ดอกเบี้ยสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล 2-3 เท่า ปัญหาที่สอง การแก้ปัญหาชำระหนี้หุ้นกู้ โดยการขอขยายระยะเวลากำหนดชำระ (Roll Over) จะทำให้การขอ roll over ยากขึ้น เพราะนักลงทุนย่อมเร่งรัดให้ชำระหนี้เงินกู้ เพื่อนำมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล 

“ขอให้รัฐบาลระมัดระวังในการหาแหล่งเงินกู้ตาม ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่จะออกมาในอนาคต หากใช้วิธีการออกพันธบัตรจะซ้ำเติมปัญหาหุ้นกู้ให้เลวร้ายลงไปกว่านี้ และจะกระทบต่อตลาดทุนไทยมากขึ้น”นายจุลพงศ์กล่าว 

นายจุลพงศ์กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ ฯ 5 แสนล้านบาท จะกู้เงินด้วยวิธีใดมีหลายช่องทาง แต่ถ้ารัฐบาลจะใช้วิธีออกพันธบัตรควรจะต้องทบทวนให้ดี 

นายจุลพงศ์กล่าวว่า ส่วนกระแสข่าวรัฐบาลจะตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้ เพื่อการแก้ปัญหาหุ้นกู้ผิดนัดชำระนั้น ตนเห็นด้วยในหลักการ แต่ต้องดูโครงสร้างว่าเป็นอย่างไร 

นายจุลพงศ์กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ โดยรัฐบาลอ้างว่า ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรลดลง เพราะเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำนั้น ความจริงแล้วเงินเฟ้อของไทยถูกบิดเบือน ไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริง เนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาและรัฐบาลในปัจจุบันแทรกแซงราคาพลังงาน (น้ำมัน) และราคาไฟฟ้าทำให้ดูเหลือว่าเงินเฟ้อของไทยต่ำมาก 

นายจุลพงศ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5 % ที่ธปท.ประกาศนั้น ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย 3 % เวียดนาม 4 %  ส่วนสหรัฐ ฯ 5.35 % 

“การที่รัฐบาลเรียกร้องให้ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยหวังว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์จะลดลงนั้น จะทำให้เจอปัญหาเงินทุนไหลออกไปสู่ประเทศที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า และกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนลงจนไม่มีเสถียรภาพอีกครั้ง”นายจุลพงศ์กล่าว

นายจุลพงศ์กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการให้ธปท.ควรกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อจูงใจให้ประชาชนออมมากขึ้น คนที่มีเงินฝากไม่มาก เช่น ข้าราชการก็จะได้ดอกเบี้ยมากขึ้น และดอกเบี้ยเงินฝากไม่ขึ้นมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว ซึ่งจะทำให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเงินกู้แคบลง ดีกว่าไปกดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งอันตรายมาก 

นายจุลพงศ์กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเชิญนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท. มาหารือที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวาน (10 ม.ค.67) ว่า ไม่คิดว่าเป็นการก้าวก่ายและแทรกแซงธปท. 

“เขาจะใช้วิธีแสดงความวิตกกังวล แต่ไม่ได้ไปกดดัน สามารถทำได้ แต่ไม่มีอำนาจไปสั่งธนาคารกลาง ซึ่งหลักเกณฑ์เหมือนกันกับธนาคารในมาเลเซีย รัฐบาลไม่มีอำนาจไปสั่งธนาคารกลาง เพราะการเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ ถ้าอ่อนไหวไปตามการเมือง เสร็จเลย”อดีตประธานบอร์ดรแบงก์ในมาเลเซียกล่าว

นายจุลพงศ์กล่าวว่า ไม่ถือว่าผิดมารยาท เพราะขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่คุยและวิธีการคุย เชื่อว่านายกรัฐมนตรีมีวิธีการคุยที่จะแสดงความวิตกกังวลของรัฐบาล 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะส่งผลต่อการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้หรือไม่ นายจุลพงศ์กล่าวว่า ถ้าส่งผลต่อการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. จะเหมือนกับรัฐบาลไปกดดัน แต่ตนคิดว่า กนง.ควรจะใช้วิชาชีพพิจารณาตัดสินโดยอิสระ