KEY
POINTS
กรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแย้มว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาว จะเดินทางกลับประเทศไทยเร็วสุดในเดือนตุลาคมปีนี้ หรือ อย่างช้ามาทำบุญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 นั้น
ล่าสุด นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ออกมาตอบคำถามของสื่อมวลชนถึงแนวทางการกลับบ้านของ นางสาวยิ่งลักษณ์ จะคล้ายกับของ นายทักษิณ หรือไม่ ว่า “ผมว่าโมเดลก็คล้ายๆ กัน”
เมื่อถามว่าจะเป็นช่วงตุลาคมหรือช่วงปลายปีนี้ นายพิชิต ตอบว่า “ยังไม่ทราบจริงๆ เรื่องเวลายังไม่ทราบ ได้แต่ดูเรื่องคดีให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ถึงเวลามันมีกระบวนการที่ต้องทำ กฎหมายเขียนไว้แล้วว่าต้องทำอย่างไร 1 2 3 4 ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน”
นายพิชิต ยังยืนยันว่า กรณีนี้ไม่มีสองมาตรฐาน รวมถึงที่ผ่านมาก็ไม่มีสองมาตรฐาน เป็นเรื่องการบังคับโทษ การบริหารโทษ ไม่มีอะไรสองมาตรฐาน
"พอเราไม่เข้าใจ หรือ บางทีมองไปแบบคนรักคนชอบ แต่ที่ผ่านมาเรายึดหลักการบังคับโทษ บริหารโทษ กระบวนการยุติธรรม สิ้นสุดนับแต่ศาล ออกใบแดงแจ้งโทษแล้ว เพราะฉะนั้นรูปแบบอะไรก็คล้ายๆ กัน แต่เมื่อถึงเวลาแล้ว เมื่อท่านตัดสินใจอย่างไรก็อยู่ที่ท่าน กระบวนการไม่มีอะไรซับซ้อน"
เมื่อถามว่านางสาวยิ่งลักษณ์ได้เปรยอะไรหรือไม่ถึงการกลับบ้าน นายพิชิต กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันเลย ไม่ได้คุยกันนานแล้วตั้งแต่ รายงานคดีเมื่อตอนยกฟ้อง
ปีหน้า"ยิ่งลักษณ์"กลับไทย?
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2567 ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ นายทักษิณ ได้ไปประกอบพิธีไหว้พระธาตุและทำบุญ สรงน้ำพระเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์
โดยช่วงหนึ่งได้ตอบคำถามของสื่อมวลชนที่ถามว่า ได้มาสงกรานต์ที่เชียงใหม่อย่างนี้แล้ว คิดถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ หรือไม่ นายทักษิณ ตอบว่า “ยิ่งลักษณ์ ได้อวยพรสงกรานต์ก่อนที่จะเดินทางมาเชียงใหม่ ก็เลยบอกปีหน้า เรามาทำบุญด้วยกัน โดยสงกรานต์ปีหน้า นางสาวยิ่งลักษณ์ คงได้มีโอกาสมาทำบุญ”
เมื่อถามย้ำว่าเป็นข่าวดีใช่หรือไม่ นายทักษิณ ตอบว่า ไม่ทราบ แต่ตอนที่ตนจะเดินทางกลับ ก็มีความมุ่งมั่นว่าอยากกลับบ้าน แต่ไม่รู้ว่ากลับอย่างไร เมื่อไหร่ ซึ่งก็คิดตั้งแต่วันแรกที่ออกไปว่าจะต้องกลับให้ได้ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ อยากกลับอยู่แล้ว
เมื่อถามว่านางสาวยิ่งลักษณ์มีบ่นบ้างหรือไม่ว่าเหงา นายทักษิณ ยอมรับว่า ก็มีบ้าง แต่ต่างคนต่างมีภารกิจ เกี่ยวกับบ้านเมือง นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ห่วงบ้านเมืองเช่นเดียวกัน ก็ช่วยกันคิดช่วยกันทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่พวกเราเป็นรัฐบาล ก็ให้ความเห็น
“จะกลับมาช่องทางไหนนั้น ยังไม่ทราบ เอาความตั้งใจก่อน และในส่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ค่อยซับซ้อนเหมือนของผม ของผมเขายัดให้เยอะ ของนางสาวยิ่งลักษณ์ มีแค่อันเดียว”
เมื่อถามย้ำว่านางสาวยิ่งลักษณ์จะกลับมาภายในปีนี้หรือไม่ นายทักษิณ ตอบว่า ก็ตั้งใจอย่างนั้น แต่ยังไม่รู้จะอย่างไร ขอดูเหตุการณ์ก่อน และเมื่อถามว่าจะเป็นเดือนตุลาคม 2567 นี้เลยหรือไม่ อดีตนายกฯ ระบุว่า ไม่รู้แต่ตั้งใจ
อยากให้“ยิ่งลักษณ์”กลับมา
ด้านท่าทีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ จะเดินทางกลับมาประเทศไทย ว่า ผู้ต้องคดีการเมืองทุกคน เชื่อว่าหลายคนอยากกลับบ้านเกิดเมืองนอน และถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประสานมายังรัฐบาล
“เชื่อว่าทุกกระบวนการเป็นไปตามกฎหมาย ต้องมีขั้นตอนที่จะเข้ามา จริงๆ แล้วไม่ต้องมีการประสานอะไร เนื่องจากมีกระบวนการทางกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน”
นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า “หากนางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องการเดินทางกลับไทย ต้องทำตามขั้นตอนและเป็นไปตามนักโทษคดีทางการเมืองอื่นๆ เราก็อยากให้กลับมา เพราะถือเป็นนิมิตหมายอันดี ประเทศจะได้เดินไปข้างหน้าได้”
คดีของ"ยิ่งลักษณ์"
สำหรับคดีของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง พิพากษา “ยกฟ้อง” พร้อมกับ “ถอนหมายจับ” ในคดีจัดอีเวนต์โรดโชว์ 240 ล้านบาท
ก่อนหน้านั้น ศาลฎีกานักการเมือง พิพากษา “ยกฟ้อง” ในคดีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” เลขาธิการ สมช. ขณะนั้น ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ เหตุไม่มีเจตนาพิเศษ
ขณะเดียวกันคดีที่อยู่ในชั้นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในคดีระบายข้าว "จีทูจีภาคสอง" ป.ป.ช.มีรายงานเมื่อปลายปี 2565 ว่า ป.ป.ช.มีมติ "ยกคำร้อง" ทั้ง ทักษิณ และ นางสาวยิ่งลักษณ์
แต่ “ยิ่งลักษณ์” ถูกศาลฎีกานักการเมืองพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 5 ปี ในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
ช่องทาง“ยิ่งลักษณ์”กลับไทย
สำหรับโอกาสกลับบ้านของ นางสาวยิ่งลักษณ์ หากเธอตัดสินใจเดินทางกลับมายังประเทศไทย เหมือนกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษจำคุก 7 ปี 11 เดือน 20 วัน เหลือ 1 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างพักโทษ-คุมประพฤติ
อันดับแรก นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย โดยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตามการถวายคำแนะนำของ รมว.ยุติธรรม
ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์
โดยระยะเวลาการยื่นฎีกาทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ยื่นได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด
สำหรับขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ทางแรก ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง (บิดามารดา บุตร คู่สมรส) สามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ/ทัณฑสถาน หรือ กระทรวงยุติธรรม หรือสำนักราชเลขาธิการ หรือ กระทรวงการต่างประเทศ หรือ สถานทูต หลังจากรับเรื่องแล้ว กรมราชทัณฑ์ จะส่งไปสอบสวนเรื่องราวยังเรือนจำ/ทัณฑสถานที่ควบคุมผู้ต้องโทษ
จากนั้นจะเสนอความเห็นให้ รมว.ยุติธรรม ลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ สำนักราชเลขาธิการ
เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นไร ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบและดำเนินการพร้อมทั้งแจ้งผลให้ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ทราบ
ทางที่สอง กรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้า รมว.ยุติธรรม เห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำขอพระราชทานอภัยโทษให้ก็ได้
หากพระราชทานอภัยโทษให้ อาจจะเป็นการพระราชทานอภัยโทษให้ทั้งหมด โดยให้ปล่อยตัวไป หรือ พระราชทานอภัยโทษให้เป็นบางส่วน เช่น ลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต หรือ ลดโทษจากกำหนดระยะเวลาต้องโทษเดิม โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส่วนในรายที่ไม่พระราชทานอภัยโทษให้ จะมีหนังสือสำคัญแจ้งผลฎีกา โดยอ้างพระราชกระแสว่าความทราบฝ่าละลองธุลีพระบาทแล้วมีกระแสให้ยกฎีกา หนังสือสำคัญดังกล่าวนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแจ้งพระราชกระแส
ทั้งนี้ ถ้ามีพระราชกระแสให้ยกฎีกาแล้ว จะยื่นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้น 2 ปี นับแต่วันถูกยกครั้งก่อน คือ จะต้องรอให้พ้น 2 ปีไปก่อนจึงจะยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปใหม่ได้
ทว่าโอกาสที่ “ยิ่งลักษณ์” จะได้กลับบ้านไป “พักโทษ” ที่บ้านย่านรามอินทรา เหมือนกับ “ทักษิณ” ที่อยู่ระหว่างคุมประพฤติที่บ้านจันทร์ส่องหล้าหรือไม่นั้น หนทางอาจจะแคบกว่า “นายกฯ พี่ชาย”
นอกจากต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 เนื่องจากระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ปี 2566 ที่ “ทักษิณ” ใช้เป็นหลักเกณฑ์พักโทษ คือ เป็นผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป และ ป่วยขั้นวิกฤต ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
แต่ไม่ปิดประตูตาย เพราะสุดท้ายยังให้อำนาจ “อธิบดีกรมราชทัณฑ์” มีอำนาจชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ-การออกหลักเกณฑ์ หรือ เงื่อนไขเพิ่มเติม
มารอดูกันว่า “ยิ่งลักษณ์” จะเริ่มกระบวนการขอกลับไทยเมื่อไหร่ และจะได้กลับบ้านภายในปีหน้า อย่างที่ “พี่ชายทักษิณ” ปรารถนาหรือไม่