นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าววันนี้ (28 เม.ย.) ว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญไม่น้อยกว่าด้านเศรษฐกิจ จึงมอบนโยบายในระหว่างการประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์เมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่กำหนดทิศทาง และยุทธศาสตร์ของพรรค ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
“เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบ เหมือนเครื่องยนต์ตัวเก่าทำให้ศักยภาพของระบบเศรษฐกิจอ่อนแอและถดถอยลงต่อเนื่องมากว่า20ปี ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงปี 2543 ถึง 2553 เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.5 และลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.7 ระหว่างปี 2554 ถึง 2564 และปีนี้ก็คาดว่าจะเติบโตไม่ถึง3%” รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์เกริ่นนำ และย้ำว่า
คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ กำลังเร่งจัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย รวมทั้งตอบโจทย์ที่เป็นปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งรอช้าไม่ได้ ต้องเร่งสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เศรษฐกิจสูงวัย(Silver Economy) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และเศรษฐกิจคาร์บอน(Carbon Economy) รวมทั้งยุทธศาสตร์AIปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น
“ ระบบเศรษฐกิจใหม่คือเครื่องยนต์แห่งการเติบโต(New Growth Engines)ที่จะยกระดับเพดานรายได้ใหม่ของประเทศและคนไทยให้สูงขึ้น เนื่องจากระบบเศรษฐกิจดั้งเดิมไม่มีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อีกต่อไปในภาวะที่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือดและโลกรวน สภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) อุณหภูมิที่สูงขึ้น ปรากฎการณ์เอลนิโญและลานีญามาเร็วกว่าที่คิดและร้ายแรงมากขึ้นทำให้เกิดภัยแล้งภัยร้อนน้ำท่วมขั้นวิกฤติกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ต้นทุนอาหารของประชาชน ห่วงโซ่การผลิตอาหารและความมั่นคงทางอาหาร(Food Security) ตลอดจนปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ทวีความรุนแรงมากขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการท่องเที่ยว”
นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเหมือนสองด้านของเหรียญ ไทยอยู่ในภาวะโลกร้อนและท้องหิว การรับมือวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ขณะนี้และในอนาคต เป็นเรื่องเร่งด่วนและต้องทำทันทีอย่างจริงจังต่อเนื่อง จึงหวังว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ จะเร่งแก้ปัญหาโลกร้อนและท้องหิวอย่างจริงจัง อย่าทำประเทศเสียโอกาสซ้ำรอยรัฐบาลเศรษฐา1
“เพราะที่ผ่านมารัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระดับเชิงโครงสร้างและระบบน้อยมาก” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด