วันนี้ (3 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าพรรคเพื่อไทย เพื่อร่วมกิจกรรม "10 เดือนที่ไม่ต้องรอ ทำต่อให้เต็ม 10" ซึ่งจะมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(นายก อบจ.) ในนามพรรคเพื่อไทย
โอกาสนี้ นายเศรษฐา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ยื่นตรวจสอบคุณสมบัติของ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความกังวลหรือไม่ว่า ต้องติดตามกันต่อไป แต่ตนคิดว่าเราได้ตรวจสอบคุณสมบัติของว่าที่รัฐมนตรีทุกคน รวมถึงผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุในเรื่องจริยธรรมสุดท้ายต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น ตนไม่ทราบในเรื่องรายละเอียดของขั้นตอน ส่วนที่มีการร้องให้ตรวจสอบนั้นเป็นเรื่องสำคัญแต่เราต้องให้โอกาสคนถูกพาดพิง แต่ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย
เมื่อถามว่าจากกรณีนี้อาจส่งผลกระทบต่อตัวนายกรัฐมนตรีด้วย นายเศรษฐา ตอบ “ไม่ครับ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 กันยายน 2566 ตอบกลับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีเนื้อหาระบุว่า
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง และมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า มาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยใน(6) ของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า “เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”
ดังนั้น การได้รับโทษจำคุกไม่ว่าโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งใด จึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้นได้พ้นโทษเกินสิบปีแล้ว หรือได้รับโทษจำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ อันเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
ประเด็นที่สอง เห็นว่า มาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือ มีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก
ทั้งนี้ การให้ความเห็นในกรณีนี้ เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ชี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ว่าประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณีมาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เท่านั้น
อนึ่ง ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น