“สมชัย”เปิด 4 แนวทางศาลรัฐธรรมนูญ“รับ-ไม่รับ”คดีถอดถอนนายกฯ-พิชิต

21 พ.ค. 2567 | 06:17 น.
อัพเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2567 | 06:24 น.

“สมชัย”เปิด 4 แนวทางศาลรัฐธรรมนูญ“รับ-ไม่รับ”คดีถอดถอนนายกฯ-พิชิต ชื่นบาน “ไม่รับคำร้อง-รับคำร้องแต่ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่-รับคำร้อง และสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 ราย- รับคำร้องและสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 2 ราย” ด้านอดีตรองผอ.ข่าวกรอง เปิด 2 จุดตาย

วันนี้( 21 พ.ค.67) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก สมชัย ศรีสุทธิยากร แสดงความคิดเห็นกรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 40 คนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักงานายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง

เนื่องจากมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นว่า ด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ดังนี้

พฤหัสนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญออกได้กี่หน้า

สว. 40 คน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ พิชิต ชื่นบาน พ่วง เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะผู้ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อทั้งๆ สมควรจะรู้ว่ามีปัญหา 

 

ตุลาการศาลจะลงมติรับ หรือ ไม่รับคำร้องดังกล่าว 

หน้าที่ 1 ไม่รับคำร้อง คุณเศรษฐา ก็ยังอยู่ยุโรปด้วยความสบายใจต่อไป

หน้าที่ 2 รับคำร้อง แต่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คลื่นความร้อนคงแผ่ไปถึงยุโรป

หน้าที่ 3 รับคำร้อง และสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 ราย คนที่เวียนเทียนวันวิสาขบูชา อาจได้ร่วมงานบุญเป็นงานสุดท้าย

หน้าที่ 4 รับคำร้องและสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 2 ราย เที่ยวบินกลับจากยุโรปที่ต่อไปญี่ปุ่น อาจไม่รื่นเริงนัก

ด้าน นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart แสดงความคิดเห็นในเรื่องเดียวกัน ในหัวข้อ “เศรษฐาหน้าคะมำ!” ระบุว่า 

23 นี้ ศาลจะพิจารณาอนาคตเศรษฐา จะอยู่หรือจะไป จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่?

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญพิจาณาว่าคดีมีมูล คุณสมบัติของรัฐมนตรีตามมาตรา 160  (4 มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5 ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (7 ไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก  แม้คดีนั้นจะไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ

จุดตายแรกคือ ความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ 

ทนายถุงขนมมันมีที่มาที่ไป

มีข้อต่อสู้ คือ ถูกจำคุกจริงแต่เป็นคำสั่งศาล ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลให้จำคุก

จุดตายที่สอง ไม่ปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรม

ถูกถอนใบอนุญาตทนาย ตราบาปนี้ยังติดตัว

คุณสมบัติเทพของคนเป็นรัฐมนตรีต้องขาวจั๊ว ไม่ใช่คนกระดำกระด่าง คนเทาๆ คนที่ยังมีข้อสงสัยจึงไม่น่าเป็นรัฐมนตรีได้ คนเสนอชื่อและลงนามสนองพระบรมราชโองการ ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ

หากศาลสั่งรับคดีไว้พิจารณา นายกและรัฐมนตรีอาจต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้รองนายกรักษาการ จนกว่าศาลจะชี้เป็นชี้ตาย

ตุ้มๆ ต่อมๆ กันไป