วันนี้(27 พ.ค. 67) คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประชุมหารือกัน กรณีศาลปกครองกลางได้พิพากษามีคำสั่งให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ข้อ 7 ข้อ 8 และ ข้อ 11(2)
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง โดยวันนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาคำพิพากษา และข้อเสนอของสำนักงาน ใน 4 ประเด็น
ประเด็นแรก เนื่องด้วยขณะนี้อยู่ระหว่างหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกา ต้องมีการเลือก สว. กระบวนการเลือก สว. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ หากจะอุทธรณ์ คำพิพากษากว่าคดีจะสิ้นสุดก็จะพ้นระยะเวลาการเลือก สว.ไปแล้ว ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นเช่นไรก็ไม่เกิดประโยชน์แก่การเลือก สว. ครั้งนี้แล้ว
ประเด็นที่ 2 สาระสำคัญของคำพิพากษา ซึ่งเป็นการขยายสิทธิให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเลือก สว. ให้มากยิ่งขึ้น คำพิพากษาไม่กระทบต่อสาระสำคัญของการแนะนำตัว ของ สว. ประการใด
ประเด็นที่ 3 ความชัดเจนคือ การแนะนำตัวก็เพื่อประโยชน์ผู้สมัครในการแนะนำตัว และในส่วนของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือก สว. ครั้งนี้
และประเด็นที่ 4 คือ ความเรียบร้อย เพื่อประโยชน์แห่งการเลือก สว. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ที่ประชาชนจะได้ สว.ตามไทม์ไลน์ ที่ว่างไว้ คือ ประมาณต้นเดือนก.ค.นี้
“คณะกรรมการการเลือกตั้ พิจารณาแล้ว จึงไม่เห็นสมควรอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ทั้งนี้จะไม่มีการแก้ไขระเบียบใดๆ ผู้สมัค สามารถแนะนำตัวได้ตามระเบียบกกต.ว่า ด้วยการแนะนำตัวฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ควบคู่ไปกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง”
นายแสวง กล่าวด้วยว่า อยากให้ผู้สมัครพึงระวังการทำผิดตามมาตรา 77 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. และยึดการไม่ขอ หรือ แลกคะแนน ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ที่ถือว่าเป็นควมผิด
เมื่อถามว่าคนรู้สึกเสียหายจากระเบียบของ กกต. จึงตั้งคำถามว่า กกต.จะรับผิดชอบอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ก่อนจะออกระเบียบ เราก็ดูกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และเห็นว่า การออกระเบียบจำเป็นต้องให้เกิดความเสมอภาค และความเรียบร้อย เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนกำหนดเรื่องค่าใช้จ่าย สว. ดังนั้นยืนยันว่า กกต.ออกระเบียบเพื่อคามเสมอภาคและเรียบร้อย แต่เมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาออกมา กกต.จึงไม่อุทธรณ์
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาระบุว่า คดีหมายเลขดำที่ ๗๗๑/๒๕๖๗ หมายเลขแดงที่ ๙๗๒/๒๕๖๗ ระหว่าง นาย พ. กับพวก รวม ๖ คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) และประธานกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒)
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกฟ้องเพิกถอนระเบียบฉบับเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ ๗๕๓/๒๕๖๗ โดยฟ้องขอให้ศาลเพิกถอน ข้อ ๓ บทนิยามของคำว่า “การแนะนำตัว” ข้อ ๕ ข้อ ๗ ข้อ ๘ และข้อ ๑๑ (๒) (๓) และ (๕)
คดีนี้ศาลปกครองกลางวินิจฉัยในส่วนของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗ ข้อ ๗ และข้อ ๘ และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ ข้อ ๑๑ (๒) และ (๕) ทำนองเดียวกับคดีหมายเลขดำที่ ๗๕๓/๒๕๖๗
ส่วนข้อ ๓ บทนิยามของคำว่า “การแนะนำตัว” นั้น วินิจฉัยว่า เป็นการให้คำนิยามความหมายของการแนะนำตัวซึ่งมีผลทำให้การแนะนำตัวจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยกันเอง ทั้งที่การแนะนำตัวดังกล่าวประชาชนสามารถมีส่วนร่วมรับรู้ได้ จึงมีลักษณะเป็นบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
สำหรับข้อ ๕ ของระเบียบพิพาท ซึ่งกำหนดให้ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาสามารถแนะนำตัวตามระเบียบนี้ได้ นับแต่วันที่ระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ นั้น เห็นว่า การกำหนดให้ระเบียบดังกล่าวครอบคลุมถึงผู้ประสงค์จะสมัครด้วยนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการดำเนินการรับสมัครเท่านั้น
ทั้งนี้ แม้ว่าความในมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ จะใช้คำว่า “ผู้สมัคร” ก็ตาม แต่ยังมีความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน บัญญัติถึง “ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัคร”
และกรณีจะต้องรับโทษตามมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ นั้น ต้องเป็นกรณีผู้สมัครหรือบุคคลใดที่ให้การช่วยเหลือผู้สมัครไม่รวมถึงผู้ประสงค์จะสมัครด้วย ข้อกำหนดในข้อ ๕ จึงไม่ได้เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนข้อ ๑๑ (๓) ของระเบียบฉบับพิพาท วินิจฉัยว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแนะนำตัวของผู้สมัคร ทำให้ผู้สมัครที่ไม่สามารถใช้วิธีการแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่อาจใช้วิธีการตามข้อ ๑๑ (๓) ได้ อันเป็นการจำกัดการแนะนำตัวผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาให้ไม่เสมอภาคกัน
จึงเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้สมัครที่เกินความจำเป็นแก่การดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการแนะนำตัวเพื่อให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และไม่สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่สามารถกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ เช่น การเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย หรือต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
จึงพิพากษา ดังนี้
(๑) เพิกถอนข้อ ๓ บทนิยามของคำว่า “การแนะนำตัว” ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
(๒) เพิกถอนข้อ ๗ ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗ ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ระเบียบแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ
(๓) เพิกถอนข้อ ๘ ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ ซึ่งใช้บังคับในระหว่างวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๗ จนถึงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๗
(๔) เพิกถอนข้อ ๑๑ (๒) และ (๓) ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยให้มีผลย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับ