วันนี้( 6 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี กกต. จะมีการประชุมพรุ่งนี้ (7 มิ.ย.) เพื่อหารือในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย 4 มาตราของพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 2561 ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือก สว. ทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และ ระดับประเทศ ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา107 หรือไม่
มีรายงานว่า มีความเป็นไปได้ที่สำนักงาน กกต. จะเสนอให้ กกต.ใช้อำนาจตามมาตรา 35 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 ประกาศเลื่อนการเลือก สว. ที่ระดับอำเภอกำหนดไว้ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน
ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่า ประเด็นดังกล่าวมีผู้สมัคร สว. ร้องทั้งต่อ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และฟ้องคดีต่อศาลปกครอง หากกกต.ยังคงยืนยันเดินหน้าจัดการเลือก สว. ตามแผนงานเดิมที่วางไว้ ย่อมเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตัวผู้สมัคร และ กกต. และอาจนำไปสู่การร้องให้การเลือก สว.เป็นโมฆะได้
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การที่ทั้ง 4 มาตราของกฎหมายดังกล่าว กำหนดวิธีการเลือกว่าผู้สมัคร สว. จะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ซึ่งก็จะทำให้กกต.หนีไม่พ้นถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายเหมือนการเลือกตั้งในอดีต
"ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้การเลือกตั้งส.ส.เป็นโมฆะ สิ่งที่ตามมาคือ การฟ้องร้องหาผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย ทั้ง กกต. สำนักงาน หรือ เจ้าหน้าที่ต้องสู้คดีกันหลายปี ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอีก เมื่อขณะนี้ขั้นตอนของการเลือก สว. ยังไม่เกิดขึ้น กระบวนการจัดการเลือกก็ยังอยู่ ผู้สมัครก็ยังถือว่าไม่เสียหาย"
ดังนั้น ถ้ากกต.จะมีมติเลื่อนการเลือก สว. รอศาลฯ วินิจฉัยให้ชัดเจนเสียก่อน ก็น่าจะเป็นผลดีกว่า เพราะก็คาดว่าไม่น่าเกิน 2 สัปดาห์ นับจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เนื่องจากสำนักงานฯ ได้รับหนังสือแจ้งจากศาลฯ ตั้งแต่วานนี้แล้ว (5 มิ.ย.) และกำลังเร่งทำคำชี้แจงส่งกลับไปอยู่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกกต. ว่าจะเห็นอย่างไร" แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกต. ยังจะเสนอต่อ กกต .ถึงแนวทางการเลือก สว. ต่อไป หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้ง 4 มาตรา ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า ในทางปฎิบัติสำนักงานฯ สามารถเริ่มกระบวนการเลือก สว.ได้ภายใน 7 วัน นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
แต่ถ้าศาลฯ มีคำวินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องไปแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยกันได้มาซึ่งวุฒิสภา 2561 เสียก่อน ซึ่งก็จะใช้เวลานานพอสมควร โดย สว.ชุดปัจจุบันจะยังคงรักษาการต่อไป
สำหรับมาตรา 35 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 กำหนดว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือก ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือ ระดับประเทศ พร้อมกันทั่วราชอาณาจักร ตามวันที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ตามมาตรา 12 (1) อันมิใช่เป็นกรณีตาม มาตรา 34 และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (5 เสียง) ว่าการดำเนินการเลือกต่อไปตามกำหนดวันเดิม จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม หรือ เรียบร้อย คณะกรรมการจะประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้
ในกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้น ในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน คณะกรรมการจะสั่งยกเลิก การเลือก และประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 มิ.ย.) ทางสำนักงานกกต.จะจัดงานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานกกต. ครบรอบ 26 ปีด้วย โดยทางสำนักงานได้มีการแจ้งนัดหมายสื่อมวลชนว่าในเวลา 13.30 น. นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. จะแถลงผลงาน กกต. ในโอกาสครบรอบ 26 ปี ซึ่งคาดว่าก็จะได้มีการชี้แจงถึงผลการประชุมในกรณีดังกล่าวด้วย