KEY
POINTS
คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ตามหลอน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังอัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งฟ้องศาล โดยนัดให้ “เจ้าตัว” มาพบอัยการเพื่อนำตัวส่งฟ้องศาลอาญา ในวันที่ 18 มิ.ย. 2567 นี้
คดีนี้อัยการสั่งฟ้อง ทักษิณ ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และกระทำความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าช่องทางคอมพิวเตอร์ อันเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 พ.ศ. 2549 ข้อ 1 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 มาตรา 3 มาตรา 14 (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 8
คดีดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2552 ซึ่ง ทักษิณ เดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน
วันที่ 28 พ.ค. 2567 ทักษิณ มอบหมายทนายความยื่นคำร้องต่ออัยการขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปก่อน เนื่องจากติดโควิด-19
อสส.สั่งฟ้อง“ทักษิณ”คดีม.112
แต่ทว่า วันที่ 29 พ.ค. 2567 ประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงาน อสส. แถลงว่า คดีนี้ อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ตรวจพิจารณาสำนวนแล้ว ได้มีคำสั่งคดีนี้เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 โดยสั่งฟ้อง ทักษิณ ตามข้อกล่าวหาดังกล่าว
แต่อัยการไม่สามารถยื่นฟ้อง ทักษิณ ต่อศาลได้ เนื่องจาก ทักษิณ ไม่ได้มาพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัด ได้มอบให้ทนายความยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำสั่งของอัยการออกไปเป็น 25 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. พร้อมแนบใบรับรองแพทย์ยืนยันว่า ป่วยเนื่องจากติดโควิด และแพทย์ให้พัก 7 วัน
โดยอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในฐานะหัวหน้าอัยการผู้ได้รับมอบหมายจาก อสส. ให้รับผิดชอบคดีนี้ พิจารณาคำร้องของทนาย นายทักษิณ แล้ว เห็นว่า เหตุขอเลื่อนเนื่องจากอาการป่วยเพราะติดโควิด โดยแพทย์ให้พักสังเกตอาการถึงวันที่ 3 มิ.ย. จึงอนุญาตเลื่อนมาพบอัยการได้ถึงวันที่ 18 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 เพื่อนัด ทักษิณ มาพบอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป
“เมื่ออัยการสั่งฟ้อง เป็นการใช้ดุลพินิจตามขั้นตอนกฎหมาย ถ้าหัวหน้าพนักงานสั่ง ถือว่าคดีนี้เป็นคำสั่งที่มีกฎหมายรองรับ ส่วนประเด็นการร้องขอความเป็นธรรม เป็นคนละประเด็น คำฟ้องใดที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ก็ต้องดำรงคงอยู่ตลอด” โฆษกสำนักงาน อสส. ระบุ
หน้าที่“ทักษิณ”พบอสส.
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนายทักษิณ ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ อสส. ใช้อำนาจของฟ้อง นายทักษิณ เป็นเรื่องปกติของกระบวนการยุติธรรม แต่ก่อนจะสั่งก็ให้โอกาสผู้ต้องหารับคำร้องขอความเป็นธรรมหลัง นายทักษิณ กลับมาไทย บัดนี้สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้แล้ว แต่คงไม่ใช่วันนี้
ทั้งนี้การขอความเป็นธรรม เราตั้งข้อสังเกตถึงข้อพิรุธ พยานหลักฐาน และการรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ และอัยการเมื่อปี 2559 โดยปีดังกล่าวในยุคสมัยใดไปตรวจสอบเอาเอง แต่อัยการคนใหม่ให้ความเป็นธรรมตรวจสอบเพิ่มเติม แต่สุดท้ายก็สั่งฟ้อง ในฐานะผู้ต้องหาเราต้องดำเนินการตามสิทธิที่ดำเนินต่อไปทางคดีอาญา ส่วนดำเนินการเรื่องใด ยังไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้
ส่วนวันที่ 18 มิ.ย. ซึ่งอัยการนัดส่งฟ้อง นายทักษิณ จะมาวันดังกล่าวได้หรือไม่ นายวิญญัติ กล่าวว่า ท่านมีหน้าที่ต้องมา ขอให้ดูกัน เพราะมีเงื่อนไขในการประกันตัว
“วิษณุ”ชี้คดีม.112 ได้ประกันตัว
วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายทักษิณ ถูกอัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 และมีการวิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะดีลมีปัญหา ว่า ตนไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้ดีลด้วย และระหว่างตนกับนายเศรษฐา ก็ไม่ได้มีดีล ไม่ได้แลกเปลี่ยนอะไร
เมื่อถามว่าคดี ม.112 น่ากังวลกับ นายทักษิณ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขอให้ไปถามนายทักษิณ น่าจะตอบได้ หากถามตน ตอบไม่ถูก แต่ในวันที่ 18 มิ.ย.อัยการต้องคุมตัวนายทักษิณ ไปที่ศาล หากศาลประทับรับฟ้อง ก็จะต้องมาดูว่าศาลให้ประกันตัวหรือไม่
เมื่อถามว่าหากศาลไม่ให้ประกันตัว นายทักษิณ ก็ต้องติดคุกใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ใช่ แต่ในระยะหลัง คดี 112 ศาลให้ประกันตัวแทบทุกคดี”
เคสคดี ม.112 ได้ประกันตัว
กรณีที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี ม.112 แล้วศาลให้ประกันตัวระหว่างสู้คดีนั้น ที่ผ่านมามี อาทิ
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 ศาลอาญา รัชดา มีคำพิพากษาจำคุก รักชนก ศรีนอก หรือ ไอซ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล 6 ปี ไม่รอลงอาญา ในความผิดคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์ 500,000 บาท ทำให้ รักชนก ยังไม่สูญเสียสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.
วันที่ 27 พ.ค. 2567 ชลธิชา แจ้งเร็ว ส.ส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ถูกศาลธัญบุรีตัดสินมีความผิดคดี ม. 112 แต่ลดโทษให้เหลือ 1 ใน 3 จึงเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ศาลให้ประกันตัวด้วยวงเงินประกัน 150,000 บาท
27 พ.ค. 2567 เช่นกัน ศาลอาญา พิพากษา ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง สั่งจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ศาลให้ประกันตัววงเงิน 2 แสน
ส่วน ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน ทะลุฟ้า ศาลสั่งจำคุก 1 ปี ศาลให้ประกันตัวในวงเงิน 50,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มีคดี ม.112 หลายคดีเช่นกัน ที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างดำเนินคดี
วันที่ 18 มิ.ย.นี้ หาก ทักษิณ ไปพบอัยการ และนำตัวส่งฟ้องศาลอาญา ต้องลุ้นว่า ศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่
โทษคดี ม.112-พรบ.คอมพ์
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
ส่วนการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา จำคุกไม่เกิน 5 ปี ไม่เกิน 100,000 บาท
“เศรษฐา”เจอศึกถอดถอน
นอกจาก ทักษิณ จะเจอกับวิบากพรรคคดี ม.112 แล้ว ก่อนหน้านั้น เศรษฐา ทวีสิน ก็กำลังเผชิญกับคดีที่ 40 สว. ยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ขณะนี้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้องไว้พิจารณา และให้ยื่นคำชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งครบกำหนดประมาณวันที่ 6-7 มิ.ย.นี้
ล่าสุด เศรษฐา ออกมาระบุว่า น่าจะสามารถยื่นคำชี้แจงต่อศาลภายในระยะเวลา 15 วัน
หากไม่มีการขอขยายระยะเวลาทำคำชี้แจงออกไป ขั้นตอนต่อไปศาลจะนำเข้าสู่ที่ประชุม คาดว่าจะเป็นวันที่ 12 มิ.ย. 2567 เพื่อพิจารณา และดำเนินการตามกระบวนการ
โดยศาลอาจจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 15 วัน ในการพิจารณาคดีนี้ ก่อนที่จะนัดประชุมปรึกษาหารือ และ ลงมติ คาดว่าศาลจะนัดวินิจฉัยได้เร็วสุดคือ วันที่ 28 มิ.ย. 2567
สถานะของ เศรษฐา ทวีสิน ถือว่าอยู่บนความเสี่ยง โดยมีตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี คนที่ 30” เป็นเดิมพัน ...อีกราว 1 เดือนเศษมาลุ้นชะตากรรม เศรษฐา กัน
ส่วน ทักษิณ ชินวัตร ที่เผชิญกับคดี ม.112 มี “คุก” เป็นเดิมพัน
ทั้ง ทักษิณ และ เศรษฐา ต่างเป็นกำลังสำคัญของพรรคเพื่อไทย หากใครคนใดคนหนึ่งเจอศาลพิพากษาว่ามีความผิด เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองแน่