ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมเลือก สว. “โมฆะ-ไม่โมฆะ”

12 มิ.ย. 2567 | 00:30 น.

ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมเลือก สว. “โมฆะ-ไม่โมฆะ” : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4000

KEY

POINTS

 

 

  • วันนี้ต้องจับตาศาลรัฐธรรมนูญถกคดี 4 มาตรากฎหมายเลือก ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าจะวินิจฉัยออกมาเลย หรือ นัดวินิจฉัยในวันใด

 

  • หากผลวินิจฉัยออกมาว่ากฎหมายการได้มาซึ่ง สว. ทั้ง 4 มาตรา ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ การเลือก สว. ก็เดินหน้าต่อไปได้

 

  • หากศาลวินิจฉัยว่า กฎหมาย สว. ทั้ง 4 มาตรา หรือ มาตราใดมาตราหนึ่ง ขัดรัฐธรรมนูญ จะส่งผลเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การฟ้องร้องให้การ เลือก สว. เป็นโมฆะได้ และต้องแก้กฎหมายซึ่งอาจใช้เวลานาน 

ในวันพุธที่ 12 มิ.ย. 2567 นี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย 1.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.ปัญญา อุดชาชน 3.อุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.วิรุฬห์ แสงเทียน 5.จิรนิติ หะวานนท์ 6.นภดล เทพพิทักษ์ 7.บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 8.อุดม รัฐอมฤต 9.สุเมธ  รอยกุลเจริญ จะมีการประชุมตามปกติในทุกวันพุธ

ทั้งนี้ คาดว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะหยิบยกกรณีที่เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2567 ได้มีมติเสียง ข้างมาก 8 ต่อ 1 (อุดม สิทธิวิรัชธรรม) “รับคำร้อง” ไว้วินิจฉัยในคดีที่ ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของ น.ส.วิเตือน งามปลั่ง และ คำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 นำโดย นายฤทธิชัย ศรีเมือง  ผู้สมัคร สว. ประจำอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช  นายเฉลิมชัย ผู้พัฒน์  ผู้สมัคร สว. ประจำอำเภอบ้านหมอ จ.สระบุรี นายสิทธิชัย ผู้พัฒน์  ผู้สมัคร สว. อำเภอค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี นายจำนอง บุญเลิศฟ้า ผู้สมัคร สว. อำเภอบ้านคา จ.ราชบุรี และ นายสากล พืชนุกูล  ผู้สมัคร สว. อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ขึ้นหารือ
กรณีที่ขอให้ศาลวินิจฉัย มาตรา 212 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่  

 โดยศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่ศาลกำหนด และจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลฯ ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

4 มาตราก.ม.สว.รอวินิจฉัย

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามในเอกสารชี้แจงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ รับวินิจฉัย 4 มาตราพ.ร.ป.ว่าด้วยกันได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือก สว. ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่แล้ว ส่วนรายละเอียดขอยังไม่ตอบ

สำหรับ 4 มาตราที่มีการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกอบด้วย มาตรา 36 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้สมัคร แนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด หรือบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้สมัครจะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัวต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด

มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3)  และ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) เกี่ยวข้องกับวิธีการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ที่กำหนดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่ม, ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ, ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 และไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่        

                           ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมเลือก สว. “โมฆะ-ไม่โมฆะ”

3 แนวทางวินิจฉัยศาลรธน.

สำหรับแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะวินิจฉัยออกมามีได้ 3 แนวทางคือ

1.กฎหมายการได้มาซึ่ง สว. ทั้ง 4 มาตรา “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ”

อันจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเลือก สว.ระดับอำเภอ ที่ได้ดำเนินการเลือกกันไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา และสามารถเดินหน้า เลือก สว. ในระดับจังหวัด วันที่ 16 มิ.ย. และ ระดับประเทศ วันที่ 26 มิ.ย.นี้ ต่อไปได้ 

2. กฎหมายการได้มาซึ่ง สว. ทั้ง 4 มาตรา “ขัดรัฐธรรมนูญ”

3. กฎหมายการได้มาซึ่ง สว. มาตราใดมาตราหนึ่ง “ขัดรัฐธรรมนูญ”

หากผลออกมาตาม ข้อ 2 หรือ ข้อ 3 จะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือก สว. ที่ดำเนินการไปก่อนหน้า และอาจเป็น “สารตั้งต้น” นำไปสู่การ “ฟ้องร้อง” ให้การ เลือก สว. ที่เกิดขึ้นเป็น “โมฆะ” ได้

ขณะเดียวกัน จะต้องนำไปสู่การแก้ไข พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. พ.ศ.2561 ในมาตราที่เป็นปัญหา ซึ่งอาจจะใช้เวลานานพอสมควร 

ที่สำคัญจะทำให้ “สว.ชุดปัจจุบัน” ยังคงรักษาการต่อไปอีกนาน

“แสวง”หวั่น สว.โมฆะ 

ก่อนหน้านั้น ทางสำนักงาน กกต. โดย แสวง บุญมี เลขาฯ กกต. ได้เคยมีความคิดที่จะเสนอให้ กกต.ใช้อำนาจตาม มาตรา 35 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 ประกาศเลื่อนการเลือก สว. ระดับอำเภอกำหนดไว้ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจน การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจากศาลรัฐธรรมนูญ  

โดยมองว่า หาก กกต.ยังคงยืนยันเดินหน้าตามแผนงานเดิมที่วางไว้ ย่อมเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทั้งกับตัวผู้สมัคร และ กกต.เอง ที่สำคัญอาจนำไปสู่การร้องให้การเลือก สว.ครั้งนี้เป็น “โมฆะ” ได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าทั้ง 4 มาตรา ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ซึ่งจะทำให้ กกต.หนีไม่พ้นถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย เหมือนการเลือกตั้งในอดีต

แต่ในที่สุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้ง 7 คน ก็ได้มีมติ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ให้เดินหน้า “เลือก สว.” 

ความเสี่ยงเลือก สว.

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา ได้ออกมาระบุว่า การเลือก สว. 2567 อาจไม่สามารถประกาศผลในวันที่ 2 ก.ค. 2567 ได้เพราะมีปัญหากติกาและการบังคับใช้

1.ปัญหากติกาการเลือก

1.1 ปล่อยให้คนที่ไม่ใช่ผู้สมัครจริงเข้ามาเลือกคนอื่นได้

1.2 ปล่อยให้คนอื่นเข้ามาช่วยแนะนำตัวผู้สมัครได้ และสามารถใช้สื่อแนะนำตัวผู้สมัครเอาเปรียบผู้สมัครคนอื่นได้

2.ปัญหาการบังคับใช้ (กกต.)

2.1 ปล่อยให้คนทำผิดตาม 1.1 และ 1.2 มาสมัครได้

2.2 ปล่อยให้กลุ่มการเมือง หรือ กลุ่มผลประโยชน์ใดสามารถจัดตั้งคน 2 กลุ่มนี้ทำผิดกฎหมายเลือก สว.ได้ 

มารอลุ้นกันว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะวินิจฉัยออกมาแนวทางใด และจะมีผลกระทบอะไรตามมาต่อการเลือก สว. หรือไม่...