สว.สายสีน้ำเงิน กินรวบสภาสูง กุม 159 เสียง

24 ก.ค. 2567 | 00:30 น.

ตามคาด “มงคล สุระสัจจะ” สว.สีน้ำเงิน สายตรงบ้านใหญ่บุรีรัมย์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา ด้วยคะแนนท่วมท้น 159 คะแนน ส่วน พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เพื่อนร่วมรุ่น วปอ. กับ “อนุทิน” นั่งรองประธานคนที่ 1 “บุญส่ง น้อยโสภณ” รองประธานคนที่ 2 “อนุทิน”ปัดไม่เกี่ยว สว.น้ำเงิน

ในการประชุมวุฒิสภา นัดแรก เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2567 มี พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มีอาวุโสสูงสุด (อายุ 78 ปี) ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราว 

หลังเข้าสู่วาระการประชุม คือ การรับทราบประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องผลการเลือกตั้งวุฒิสภา ลงวันที่ 10 ก.ค. 2567 แล้ว ประธานที่ประชุมได้แจ้งขอให้ สว.ทั้ง 200 คน ลุกขึ้นกล่าวคำปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา 115 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยกล่าวชื่อ นามสกุลของสมาชิก และกล่าวว่า 

“ขอปฏิญาณว่าข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน ทั้งจะรักษาไว้ และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

จากนั้น ประธานได้แจ้งเข้าสู่วาระ การเลือกประธานวุฒิสภา โดยพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว. เป็นคนแรกที่ลุกขึ้นเสนอชื่อ นายมงคล สุระสัจจะ สว.กลุ่มบ้านใหญ่สายสีน้ำเงิน เป็นประธานวุฒิสภา 

 

นายเศรณี อนิลบล สว. เสนอชื่อ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.ในฐานะแกนนำกลุ่ม สว.สีขาว เป็นประธานวุฒิสภา และ นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. เสนอชื่อ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.ในฐานะแกนนำกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ เป็นประธานวุฒิสภา จากนั้นได้เข้าสู่ขั้นตอนการแสดงวิสัยทัศน์ของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ 

“มงคล”นั่งประธานวุฒิสภา

ขณะที่ผลการเลือกประธานวุฒิสภา ปรากฏว่า นายมงคล สุระสัจจะ สว. กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อดีตอธิบดีกรมการปกครอง สายตรงบ้านใหญ่บุรีรัมย์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา 
โดยในจำนวน สว. 200 คน นายมงคล ได้ 159 คะแนน นพ.เปรมศักดิ์ ได้ 13 คะแนน และ น.ส.นันทนา ได้ 19 คะแนน งดออกเสียง 4คะแนน บัตรเสีย 5 คะแนน

                              สว.สายสีน้ำเงิน กินรวบสภาสูง กุม 159 เสียง

“เกรียงไกร-บุญส่ง”รองประธาน

ส่วนผลการเลือก “รองประธานวุฒิสภา” อีก 2 คนนั้น ปรากฏว่า พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ได้รับเลือกเป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ได้ 150 คะแนน ตามด้วย นายนพดล อินนา ได้ 27 คะแนน นายปฏิมา จีระแพทย์ ได้ 5 คนแนน และ นายแล ดิลกวิทยรัตน์ ได้ 15 คะแนน งดออกเสียง 1 คะแนน บัตรเสีย 2 คะแนน รวม 200 คน

สำหรับ พล.อ.เกรียงไกร เป็นอดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ. อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนร่วมรุ่น วปอ. กับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ส่วน รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ตกเป็นของ บุญส่ง น้อยโสภณ อดีตกรรมการ กกต. ได้ 167 คะแนน ส่วนนายปฏิมา จีระแพทย์ ได้ 4 คะแนน นายพงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณทิต ได้ 8 คะแนน นางอังคณา นีละไพจิตร ได้ 18 คะแนน งดออกเสียง 2 เสียง จากผู้ร่วมลงคะแนน 199 คน

“อนุทิน”ปัดโยงสว.น้ำเงิน  

ก่อนหน้านั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณี นายมงคล สุระสัจจะ จะได้เป็นประธานวุฒิสภาหรือไม่ว่า ใครชนะก็ต้องแสดงความยินดีหมดไม่มีปัญหา สมาชิกถือเป็นสมาชิกรัฐสภา ทำงานให้กับบ้านเมือง เหมือนกับพวกตนที่เป็นสภาผู้แทนราษฎร เราต้องทำงานร่วมกัน 

เมื่อถามว่า พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ จะได้ตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 นายอนุทิน กล่าวว่า  ไม่ว่าใครจะเป็นก็ดีใจด้วยทั้งหมด อะไรที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปตามครรลองก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น 
ส่วนที่โซเชียลแซวว่า สว.สายสีน้ำเงินกินรวบ อยากจะชี้แจงอะไรหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีอะไรจะชี้แจง ไม่เกี่ยวกัน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าช่วงนี้เหมือนจะเป็นช่วงขาขึ้น นายอนุทิน กล่าวว่า “ขาขึ้นไม่เอา ขาชี้ฟ้าก็อายสิ ขาลงนี่ดีแล้ว เดินได้”

พลิกปูม“มงคล สุระสัจจะ”

สำหรับ มงคล สุระสัจจะ มีชื่อเล่นว่า “จ้อน” เกิดวันที่ 9 ส.ค. 2495 ที่ อ.หนองโดน จ.สระบุรี ปัจจุบันอายุ 72 ปี

ช่วงปี 2511 ถึง 2515 มงคล ได้เรียนอาชีวะที่โรงเรียนการช่างนครนายก ได้แค่ปีเดียว ก่อนย้ายมาจบ ปวช. ที่โรงเรียนพานิชยการพระนครศรีอยุธยา

ต่อมา ได้เข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ในคณะรัฐศาสตร์ ด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นปลัดอำเภอ ไปรับใช้ประชาชนในชนบทบ้านเกิดเมืองนอน

หลังเรียนจบ ได้เข้าเป็นปลัดอำเภอ และรับราชการครั้งแรกสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 8 ม.ค. 2522

ปี 2532 มงคล ย้ายมาเป็นปลัด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จึงได้พบกับ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ที่เวลานั้นเป็น รองผู้ว่าฯ ปทุมธานี 

ต่อมา เสริมศักดิ์ สนับสนุนให้ มงคล ได้เข้าเรียนวิทยาลัยการปกครอง บ่มเพาะก่อนก้าวสู่นายอำเภอ หลังเรียนจบ มงคล เป็นนายอำเภอครั้งแรก ที่ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี

ต่อมา เสริมศักดิ์ ย้ายไปเป็นผู้ว่าฯ นครพนม มงคล ก็ตามไปเป็นนายอำเภอศรีสงคราม จ.นครพนม ก่อนย้ายมาที่ อ.ธาตุพนม, อ.บ้านนา จ.นครนายก และ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี แล้วขยับไปเป็น รองผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ

กระทั้ง ปี 2551 มงคล ได้ขึ้นนั่ง ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ จึงได้รู้จักกับ เนวิน ชิดชอบ ซึ่งเวลานั้นยังสังกัดพรรคพลังประชาชน ก่อนจะแยกตัวมาก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย 

ปลายปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ขณะนั้น ได้โยกย้าย มงคล จากผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ มาเป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน 

ต่อมา 27 เม.ย. 2553 “ครม.อภิสิทธิ์” อนุมัติแต่งตั้ง มงคล เป็นอธิบดีกรมการปกครอง และปลายปีเดียวกัน มีการเสนอชื่อ มงคล เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ มงคล ขอถอนตัว แสดงเจตจำนงไม่รับตำแหน่งดังกล่าว 

ว่ากันว่า จุดเปลี่ยนของ มงคล สุระสัจจะ ที่ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประมุขสภาสูง ในวันนี้ คือ การย้ายมารับราชการเป็นผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ เมื่อ 16 ปีที่แล้ว และถูกจัดให้เป็นคนสายตรง “บ้านใหญ่บุรีรัมย์”

                                         +++++++++++

“องค์กรอิสระ”ในอุ้งมือ สว.ชุดใหม่

อำนาจ “วุฒิสภาชุดใหม่” นอกจากมีอำนาจพิจารณาร่างกฎหมาย ที่ต้องใช้เสียง สว.ในด่านสุดท้าย หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องใช้เสียงประชุมร่วมของ 2 สภาแล้ว

สว.ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งใน “องค์กรอิสระ” ที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาล“ปรับเปลี่ยน” โดยตั้งแต่ช่วงปี 2567-2570 ในยุครัฐบาลชุดปัจจุบัน พบว่า 

ศาลรัฐธรรมนูญ มีตุลาการ 2 คน จากทั้งหมด 9 คน จะครบวาระ ในเดือน พ.ย.2567 คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ ปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ปี 2570 จะมีตุลาการครบวาระ 5 คน จาก 9 คน แบ่งเป็น 4 คน ครบวาระเดือน เม.ย. 2570 ประกอบด้วย อุดม สิทธิวิรัชธรรม วิรุฬห์ แสงเทียน จิรนิติ หะวานนท์ นภดล เทพพิทักษ์ ส่วน บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ครบวาระในเดือน ส.ค. 2570

คณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มี 3 คน ที่จะครบวาระ ในเดือน ธ.ค.2567 คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. สุวณา สุวรรณจูฑะ และ วิทยา อาคมพิทักษ์ 

ขณะเดียวกัน มีกรรมการ ป.ป.ช.อีก 2 คนที่จะรับตำแหน่ง ในปี 2567 คือ พศวัจณ์ กนกนาถ และ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง และอีก 1 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรรหาของวุฒิสภา หลัง สว.ชุดเก่าไม่ให้ความเห็นชอบ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.

ใน ปี 2570 จะมีกรรมการ 1 คน คือ สุชาติ ตระกูลเกษมสุข ครบวาระในเดือน ก.ค.2570

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 6 คน จะครบวาระ ในเดือน ก.ย. 2567 ประกอบด้วย พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธานคตง. ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ จินดา มหัทธนวัฒน์  สรรเสริญ พลเจียก อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะครบวาระ ในปี 2568 ทั้งสิ้น 5 คน จากทั้งหมด 7 คน แบ่งเป็น 3 คน ครบวาระในเดือนส.ค.2568 ประกอบด้วย อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ และ ปกรณ์ มหรรณพ อีก 2 คน จะครบวาระในเดือน ธ.ค.2568 ประกอบด้วย  เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และ ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ

ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีกรรมการที่จะครบวาระ 1 คน จากทั้งหมด 3 คน คือ สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน จะครบวาระในเดือน พ.ย. 2568 

สว.กลุ่มไหนที่กุมเสียงข้างมากใน “สภาสูง” ไว้ได้ ย่อมมีอำนาจในการ “ชี้เป็น-ชี้ตาย” บุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระนั่นเอง