“อลงกรณ์” ลั่น ปชป.พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้านเข้มข้นขึ้น หลัง “ก้าวไกล”ถูกยุบ

10 ส.ค. 2567 | 06:55 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2567 | 07:12 น.

กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิแกนนำพรรค 11 คน เมื่อ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดอาจมีดาบสอง เมื่อ ป.ป.ช. ได้สั่งไต่สวน 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขม.112 ว่าจะมีความผิดข้อหาฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า กรณีการยุบพรรคก้าวไกลได้ลดทอนความเข้มแข็งของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง

ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเพิ่มบทบาทและความเข้มข้นในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะการคอรัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน และการบริหารนโยบายของรัฐบาล

“ระบบเสียงข้างมากข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพเพื่อคานอำนาจกับรัฐบาลที่มีเสียงในสภาฯกว่า 300 เสียง ยิ่งฝ่ายค้านเข้มแข็งมากเท่าใดยิ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น”

นายอลงกรณ์ ยังแสดงความหวังว่า สส.พรรคก้าวไกลภายใต้สังกัดพรรคใหม่จะสามารถตั้งหลักกลับมาทำหน้าที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้โดยเร็วอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งการเสนอชื่อผู้ที่จะมาทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

อนึ่ง ในเดือนสิงหาคม 2567 มี 3 คดีใหญ่ทางการเมืองที่จะส่งผลต่อทิศทางการเมืองของไทยที่อาจเปลี่ยนแปลงไป ประกอบด้วย

คดีพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองและเข้าลักษณะกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยุบพรรคก้าวไกล ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค 11 คนถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี

คดีใหญ่ถัดไป ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยกรณีสมาชิกวุฒิสภา 40 คน ได้ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  ทุกฝ่ายลุ้นระทึกว่าจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่

ทั้งนี้ท้ายที่สุดผลของคดีนี้ หากศาลมีคำวินิจฉัยว่าความ เป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม จะไม่ทำให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่รัฐมนตรีที่เหลือยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกนายกฯ คนใหม่ และตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่

ส่วนในวันที่ 19 สิงหาคม ศาลอาญานัดไต่สวนพยานหลักฐาน คดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเคยถูกอดีตอัยการสูงสุด สั่งฟ้องในความผิดข้อหามาตรา 112 เมื่อปี 2558 กรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่เกาหลีใต้ซึ่งทั้ง 3 คดีจะสร้างแรงกระเพื่อมและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง