เปิดประวัติ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สายนิติศาสตร์ ฟัน"เศรษฐา-ครม.”ทั้งคณะ

14 ส.ค. 2567 | 11:46 น.
อัพเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2567 | 12:56 น.

เปิดประวัติ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฟัน "เศรษฐา-ครม.” ทั้งคณะ “ปัญญา อุดชาชน - อุดม สิทธิวิรัชธรรม - วิรุฬห์ แสงเทียน - จิรนิติ หะวานนท์ - บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์” ล้วนเรียนจบ“นิติศาสตร์”ทุกคน

วันนี้ (14 ส.ค. 67) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 )  

จากกรณีถูกกล่าวหากระทำการเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจากนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ซึ่งเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ในคดีสินบนถุงขนม 2 ล้าน เมื่อปี 2551 ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

 

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรรมนูญ ระบุตอนหนึ่งว่า นายเศรษฐา รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังคงเสนอให้แต่งตั้ง นายพิชิต เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ  นายเศรษฐา จึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4)

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติโดยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) 

เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของ “นายกรัฐมนตรี” สิ้นสุดลง ตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว “รัฐมนตรี” ต้องพ้นตำแหน่ง ทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการ ปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต่อไป

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 5 คน คือ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ และ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ เห็นว่า ความเป็น รัฐมนตรีของ นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5) 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 4 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายนภดล เทพพิทักษ์ นายอุดม รัฐอมฤต และ นายสุเมธ รอยกุลเจริญ เห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรี ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5)

                        เปิดประวัติ  5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สายนิติศาสตร์ ฟัน\"เศรษฐา-ครม.”ทั้งคณะ

 

เปิดประวัติ 5 ตุลาการฟันเศรษฐา 

สำหรับประวัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 คน ใน “คดีเศรษฐา”นั้น ล้วนมาจากสายนิติศาสตร์ ทั้งหมด

นายปัญญา อุดชาชน 

เกิด 15 เมษายน 2499 ปัจจุบันอายุ 68 ปี

-ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 16 พ.ย. 2558

-สิ้นสุดวาระการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในเดือน พ.ย. 2567 นี้

-อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

การศึกษา  

-ศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) ม.รามคำแหง

-นิติศาสตร์บัณฑิต ม.สุโขทัยธรรมาธิราช 

-นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-M.A. (Public Administration), U.S.A.

-Ph. D. (Public Administration), U.S.A.

เมื่อครั้งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีนายกฯเศรษฐา ไว้วินิจฉัย ด้วยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 นายปัญญา อุดชาชน อยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก

และเป็นเสียงข้างน้อยในจำนวน 4 เสียง ที่ลงมติให้ นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ 

นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 

-เกิด 22 พฤศจิกายน 2497 ปัจจุบันอายุย่าง 70 ปี 

-ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 1 เมษายน 2563

-พ้นวาระตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมษายน 2570

-อดีตประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา

-อดีตนายทหารพระธรรมนูญ กองทัพเรือ 
การศึกษา    

-นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

-เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 28

-นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อครั้งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีนายกฯเศรษฐา ไว้วินิจฉัย ด้วยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ก็อยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก

และเป็นเสียงข้างน้อยในจำนวน 4 เสียง ที่ลงมติให้ นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ 

นายวิรุฬห์ แสงเทียน 

-เกิด 27 พฤศจิกายน 2494 ปัจจุบันอายุ 71 ปี

-ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 1 เมษายน 2563

-พ้นวาระตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมษายน 2570

-อดีตประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา 
การศึกษา   

-นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    

-เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา    

เมื่อครั้งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีนายกฯเศรษฐา ไว้วินิจฉัย ด้วยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 นายวิรุฬห์ แสงเทียน เป็นฝ่ายเสียงข้างมาก

และเป็นเสียงข้างน้อยในจำนวน 4 เสียง ที่ลงมติให้ นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ 

นายจิรนิติ หะวานนท์ 

-เกิด 14 กุมภาพันธ์ 2496 ปัจจุบัน อายุ 71 ปี

-ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 1 เมษายน 2563

-พ้นวาระตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมษายน 2570

-อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
การศึกษา

-นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-เนติบัณฑิตไทย (ลำดับที่ 1 สมัย 28) สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา  

-LL.M. (Master of Law, Harvard University)
-M.C.L. (Master of Comparative Law, George Washington University)

-S.J.D. (Doctor of Juridical Science, George Washington University)

เมื่อครั้งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีนายกฯเศรษฐา ไว้วินิจฉัย ด้วยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 นายจิรนิติ หะวานนท์ เป็นฝ่ายเสียงข้างมาก

และเป็นเสียงข้างน้อยในจำนวน 4 เสียง ที่ลงมติให้ นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ 

นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

-เกิด 14 สิงหาคม 2495 ปัจจุบันอายุ 72 ปี  

-ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 20 ส.ค. 2563 

-พ้นวาระตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สิงหาคม 2570

-อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด 
การศึกษา

-ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

-นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เมื่อครั้งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีนายกฯเศรษฐา ไว้วินิจฉัย ด้วยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ อยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก

และเป็นเสียงข้างมากในจำนวน 5 เสียง ที่ลงมติไม่ให้ นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ