จริยธรรมพ่นพิษเปลี่ยน“โผ ครม.”สกัดซ้ำรอยเศรษฐา

04 ก.ย. 2567 | 00:00 น.
อัพเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2567 | 06:15 น.

พิษมาตรฐานจริยธรรม “ชาดา" ถอนชื่อพ้น “ครม.แพทองธาร” ส่ง “ซาบีดา ไทยเศรษฐ์” บุตรสาว นั่ง มท.3 แทน จับตา "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" อาจหลุดเก้าอี้รัฐมนตรี จากปม สปก.-ภบท.5 หัวหิน ขณะที่บุคคลอยู่ในข่ายตรวจคุณสมบัติรมต.มีถึง 11 คน

KEY

POINTS

  • พิษมาตรฐานจริยธรรม ทำ “ชาดา" ต้องถอนชื่อพ้น “ครม.แพทองธาร” ส่ง “ซาบีดา ไทยเศรษฐ์” บุตรสาว นั่ง มท.3 แทน 
  • จับตา "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" อาจหลุดเก้าอี้รัฐมนตรี จากปม สปก.-ภบท.5 หัวหิน ขณะที่คนอยู่ในข่ายตรวจคุณสมบัติรมต.มีถึง 11 คน
  • หาก “นายกฯ แพทองธาร” ไม่สแกนเข้มคุณสมบัติรัฐมนตรี อาจพลาดพลั้ง ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับ“อดีตนายกฯ เศรษฐา” ได้

   
 

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) สส.อุทัยธานี เขต 2 และ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่ขอนั่งเก้าอี้รัฐมนมตรี ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร  

แม้เจ้าตัวจะออกมายืนยันว่า ”ผมไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ“ แต่ก็ยอมรับว่า “ผมได้ถอดรายชื่อออกเอง โดยจะส่ง ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ บุตรสาว มาสานงานต่อ”

ก่อนหน้าที่ ชาดา จะถอนตัวจากตำแหน่งรัฐมนตรี ในวันที่ 3 ก.ย. 2567 นั้น มีรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ตีกลับรายชื่อของ นายชาดา ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

สำหรับ ชาดา ไทยเศรษฐ์ แม้ไม่มีคดีความติดตัว แต่ถูกตั้งคำถามในเรื่อง “จริยธรรม” กรณีถูกจับตาความเชื่อมโยงกลุ่มผู้มีอิทธิพล

นอกจาก ชาดา ไทยเศรษฐ์ จะถอนตัวไม่ขอนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ก่อนหน้านั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่แยกตัวออกมาจากพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้หอบ สส. เข้าร่วมรัฐบาล โดยที่ ร.อ.ธรรมนัส เอง ไม่ขอรับตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะหวั่นเกรงว่าจะมีปัญหาคุณสมบัติในเรืองจริยธรรม แต่ได้ส่ง นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม นั่งเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ แทน 

จับตา"เฉลิมชัย"หลุดรมต.?

นอกจากนั้น ต้องจับตา บรรดาว่าที่รัฐมนตรีอีกหลายคน อาจมีปัญหาคุณสมบัติด้านจริยธรรม ด้วยหรือไม่ อาทิ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าที่รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ยังมีคดีพัวพันกับการครอบครองที่ดิน ภบท. 5 จำนวน 120 ไร่ ค้างอยู่ใน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เพราะในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายเฉลิมชัย และ คู่สมรส ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ก่อนเข้ารับตำแหน่ง สส. เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2551 พบการถือครองที่ดินตามแบบการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) ในพื้นที่ ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 120 ไร่ 

แต่ต่อมาในการยืนบัญชีทรัพย์สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง รมว.แรงงาน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2553 และกรณีเข้ารับตำแหน่ง ครั้งต่อๆ มา ไม่ปรากฏว่า นายเฉลิมชัย แจ้งถือครองที่ดิน ภ.บ.ท. ฉบับดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.

และต่อมา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2562 นายเฉลิมชัย ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า ตนไม่มีที่ดิน ภบท.5 หรือ ส.ป.ก. แม้แต่ไร่เดียวก็ไม่มี มีเพียงที่ดินมีโฉนดไม่กี่ไร่เท่านั้น ขอให้ไปดูรายละเอียดในการยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นข้อมูลที่เปิดเผยอยู่แล้ว

ทั้งนี้ คดีความดังกล่าวยังค้างอยู่ในชั้นของ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มีการบุกรุกที่ดินของรัฐ และ ส.ป.ก. หรือไม่ มีการโอนหรือขายที่ดินดังกล่าวให้กับญาติที่บรรลุนิติภาวะหรือไม่ หรือ แปรสภาพไปเป็น น.ส.3 ก. หรือ เป็นโฉนดที่ดินไปแล้วหรือไม่ 

สำหรับที่ดิน ภ.บ.ท.5  หรือ ภาษีดอกหญ้า คือ เอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิครอบครอง เพราะที่ดินก็ยังคงเป็นของรัฐอยู่ การซื้อขายที่ดิน ภ.บ.ท.5 จะเป็นเพียงการโอนสิทธิการครอบครองจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ทำให้บุคคลใดมีกรรมสิทธิในที่ดินนั้น

ก่อนหน้านั้น ป.ป.ช.เคยชี้มูลความผิด น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในความจริยธรรมร้ายแรง กรณีถือครอง ภ.บ.ท.5 และศาลฎีกาก็ได้มีคำสั่งตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต มาแล้ว

ทั้ง เฉลิมชัย ยังมีกรณีที่เจ้าตัวเคยประกาศต่อสาธารณชนว่า “จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต” ที่อาจจะทำให้เป็นข้อครหาว่าตระบัดสัตย์หรือไม่

                        จริยธรรมพ่นพิษเปลี่ยน“โผ ครม.”สกัดซ้ำรอยเศรษฐา

 

เข้มคุณสมบัติ 11 ว่าที่รมต.

ก่อนหน้านั้น มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาว่า มีว่าที่รัฐมนตรีที่ต้องเข้มคุณสมบัติ โดยเฉพาะมาตรฐานจริยธรรม มากถึง 11 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 3 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน  พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน รวมไทยสร้างชาติ 1 คน และกลุ่มการเมือง 2 คน 

จำนวนนี้มีทั้งที่เปิดชื่อไปแล้ว และยังไม่เปิดชื่อ แยกเป็น 5 คน เป็นกลุ่มที่มีคำร้องหรือข้อกล่าวหาอยู่ใน ป.ป.ช. แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นไต่สวน ยังไม่ได้ชี้มูลความผิดใดๆ 

มีเพียงคนเดียวที่ชี้มูลความผิดทางวินัยไปแล้ว คือ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ จากพรรคภูมิใจไทย สมัยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. กรณีไม่ได้ทำความเห็นแย้ง “คำสั่งไม่ฟ้อง “บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา” ในคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต แต่ถูกชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ไม่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามกฎหมาย

ส่วนอีก 4 คนที่เหลือ เป็นกลุ่มที่มีคำร้องอยู่ใน ป.ป.ช. มีทั้งแคนดิเดตรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดย 1 ใน 3 คน มีความเชื่อมโยงกับคดีปาล์มอินโดฯ ซึ่งป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาผุู้เกี่ยวข้องไปเมื่อเดือน เม.ย.2566 

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เช่น เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีชื่อนั่งเก้าอี้ รมช.สาธารณสุข เคยถูกเชื่อมโยงกรณีปรากฏภาพถ่ายร่วมเฟรมกับ “โทนี่ เตียว” ผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน รวมถึงกรณีพี่สาว และเครือญาติโดนคดีบุกรุกโบราณสถานเขาแดง จ.สงขลา

ขณะที่ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าที่รมว.อุตสาหกรรม เคยต้องคำพากษาหรือรับโทษจำคุกในคดีการชุมนุม กปปส. โดยล่าสุดศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา ยกฟ้อง แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า คำว่า “เคย ต้องคำพิพากษา” จะเป็นปัญหาอุปสรรคหรือไม่

โดย อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ออกมาอธิบายว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้องเอกนัฏแล้ว เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายหากยังไม่มีคำพิพากษาของศาลฎีกา เอกนัฏ จึงถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และไม่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกมาก่อน

สกัดซ้ำรอย“เศรษฐา”

อย่างไรก็ตาม หากนำกฎเหล็ก “มาตรฐานจริยธรรม” มาเป็นตัวตั้งในการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยเฉพาะคำว่า “ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม” จะทำให้บุคคลดังกล่าวต้องหมดลุ้นนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีหรือไม่ 

เพราะผลพวงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา มีมติ 5 ต่อ 4 เสียง ให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี 

ถือเป็นการวางมาตรฐาน “จริยธรรม” ของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้แล้ว 

หาก “นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร” ไม่สแกนเข้มคุณสมบัติรัฐมนตรี ก่อนนำรายชื่อเสนอแต่งตั้ง เมื่อมีคนร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และพลาดพลั้งขึ้นมา ประวัติศาสตร์ก็อาจซ้ำรอยกับแบบ “อดีตนายกฯเศรษฐา” เอาได้...   
                          +++++++++++


ตรวจคุณสมบัติรัฐมนตรี 
10 ประเด็นทางกฎหมาย 

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ส่งเรื่องมาทางคณะกรรมการกฤษฎีกา และตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับลักษณะผู้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และอยู่ระหว่างดำเนินการฟ้อง จะมีการวินิจฉัยอย่างไร 

ทั้งนี้ยอมรับว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นตาม สลค. ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ประเด็น ที่ถามมา โดยไม่ได้ตรวจสอบเป็นรายบุคคล และยอมรับว่า ไม่ได้เห็นรายชื่อรัฐมนตรี 

“มีเพียงประเด็นที่ถามมา ไม่ได้ลงรายละเอียด เพราะหากลงรายละเอียดจะต้องดูข้อเท็จจริงอีกมาก เช่น การร้องไปที่ ป.ป.ช.และ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างไต่สวน ยังไม่ได้มีการชี้แจง ก็ไปชี้มูลว่าผิดไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด เพราะอยู่ระหว่างพิจารณา จึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่ามีความผิด เรามีการแนะนำไปว่า ต้องดูรายละเอียด เป็นกรณีไป” 

เมื่อถามว่าการตั้งข้อสังเกตว่าไม่ได้ตรวจสอบรายบุคคล จะเกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่ นายปกรณ์ ยอมรับว่า กฤษฎีกามีหน้าที่ให้ความเห็นประกอบกับดุลพินิจของนายกฯ เท่านั้น แต่การตัดสินว่าผิดหรือถูก เป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ หากถูกร้องที่ ป.ป.ช.แล้วเหมารวมว่ามีมลทินก็ไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกร้อง เพราะบางเรื่อง ป.ป.ช.ไม่มีการชี้มูลจึงต้องดูรายละเอียดเป็นกรณีไป