"พิชัย" เตรียมเข้ากระทรวงพาณิชย์ 11.ก.ย. มอบนโยบายทุกหน่วยงาน

06 ก.ย. 2567 | 08:32 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2567 | 08:54 น.

"พิชัย นริพทะพันธุ์" รมว. พาณิชย์ เผย กำหนดการเดินทางเข้ากระทรวงพาณิชย์วันพุธหน้า มีการมอบนโยบายและสานต่อ 7 นโยบายเดิม

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้กำหนดเดินทางเข้ากระทรวงพาณิชย์ ในวันพุธที่ 11 กันยายน 2567 และคาดว่าจะมีการมอบนโยบายงานต่างๆ ของกระทรวงต่อไป

"ในเบื้องต้นน่าจะเข้ากระทรวงพาณิชย์ในวันพุธที่ 11 กันยายน 2567 " นายพิชัย กล่าว

 

สำหรับนโยบายกระทรวงพาณิชย์ ที่คาดว่าพิชัยจะมาสานต่อ มีทั้งหมด 7 นโยบาย ได้แก่

1.นโยบาย “ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส”

  •  ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ดูแลภาระค่าครองชีพโดยเพิ่มทางเลือกในการบริโภคและกระจายสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรมเน้นให้บริโภคสินค้าดูแลเกษตรกรโดยการลดต้นทุนการเพาะปลูกของเกษตรกร เช่น ค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเครื่องจักร และต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบ
  • เพิ่มรายได้ ให้กับประชาชน โดยเชื่อมโยงกับนโยบาย1 ครอบครัว 1 ทักษะเพื่อให้เกิดอาชีพและมีรายได้ พัฒนาและขยายช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสมทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ 
  • ขยายโอกาส เพิ่มช่องทางการค้าใหม่ๆโดยเฉพาะช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สร้างโอกาสการเข้าถึงตลาดผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของกระทรวงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น

 

 

2. บริหารให้เกิดความสมดุล ระหว่างประชาชนผู้บริโภค เกษตรกรผู้ผลิต และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ให้ทุกฝ่ายสามารถดำรงชีวิต ดำเนินธุรกิจ ไปได้ สร้างผลประโยชน์ที่ได้รับด้วยกันทุกฝ่าย   บริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับ

  • สถานการณ์ ล้นตลาดและขาดตลาด โดยสร้างหลักประกันว่าผลผลิตต้องขายได้ในราคาที่เหมาะสมมีการจัดช่องทางการจำหน่ายและกระจายผลผลิตที่มีประสิทธิภาพรองรับ
  • ช่วยแก้ไขปัญหาเชิงรุก ทำให้เกษตรกรมีรายได้เช่น เกษตรอินทรีย์รวมทั้งกำกับดูแลต้นทุน และปัจจัยการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เช่น ค่าปุ๋ย ค่าขนส่ง
  • รวมถึงจัดหาสินค้าที่มีคุณภาพดีราคาเป็นธรรมและสร้างการเข้าถึงให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มเพิ่มร้านค้า/แหล่งจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดให้ครอบคลุมถึงระดับชุมชนรวมทั้งกำกับดูแลและแจ้งเตือน (Early Warning) อย่างรวดเร็วในกรณีที่เกิดปัญหาราคาสินค้าเปลี่ยนแปลง
  •  
  • ส่งเสริมพัฒนาทักษะความรู้และขีดความสามารถด้านการตลาดที่จำเป็นเพื่อให้เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมีความคิดสร้างสรรค์รวมทั้งสร้างโอกาสและช่องทางการตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้น เช่น เจรจาการค้ากับคู่ค้าในต่างประเทศเพิ่มกิจกรรมการบุกตลาดในต่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านทั้งในรูป on-site และonline 

3. การทำงานเชิงรุกและบูรณาการการทำงานร่วมกัน ของ พาณิชย์จังหวัด และ ทูตพาณิชย์

  • วางแผนยุทธศาสตร์หรือแผนบริหารจัดการสินค้าอย่างครบวงจรร่วมกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อ “รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่”
  • เพิ่มบทบาท“พาณิชย์คู่คิด SME” ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถส่งออกได้ อาทิ การให้คำปรึกษา ในด้านกฎระเบียบการนำเข้าของตลาดต่างประเทศเชิงลึก เช่น การจัดตั้งบริษัท การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในตลาดเป้าหมายและสร้างเครือข่ายพันธมิตร

4. แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมาย

  • ปรับปรุงกฎหมายเก่าที่ล้าสมัยเป็นอุปสรรคทางการค้าเพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และสร้างบัญญัติกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก

 5. ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Digital wallet ให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ

  • การเชื่อมโยงฐานข้อมูลช่องทางการตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริม เช่น ร้านค้าธงฟ้า ร้านอาหารธงฟ้า ตลาดต้องชม Farm Outlet หมู่บ้านทำมาค้าขาย เพื่อให้การใช้งาน Digital wallet ของประชาชนในพื้นที่ไม่เกิน 4 กม. สะดวกมากยิ่งขึ้น
  • อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าของประชาชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีเงื่อนไขข้อจำกัดในการใช้ Digital wallet เช่น การจัดรถพุ่มพวงเข้าไปจำหน่ายสินค้า

 6. เร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวก

  • สร้างกระแสโดยใช้ประโยชน์จาก Soft power ของไทย และสร้าง Story ให้กับให้สินค้าและบริการไทยเชื่อมโยงกับภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร วัฒนธรรม ภาพยนตร์ แอนิเมชั่นและการท่องเที่ยว
  • แก้ไข ปรับปรุง พัฒนา ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การค้าชายแดน และ การค้าข้ามแดน มีความสะดวกและคล่องตัว ในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น หนองคาย แม่สาย สะเดา
  • ผลักดันและสร้างระบบนิเวศน์ในการยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (Logistics Service Providers) เป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาค (การยกระดับให้ไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค

 7. ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA รวมทั้ง การปรับตัวเพื่อรองรับ และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยในมาตรฐานความยั่งยืนที่เป็นกรอบกติกาใหม่ของโลก

  • สร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็ก และเตรียมความพร้อม ให้ดำเนินธุรกิจสอดรับกับกฎกติกาใหม่ ๆ ของโลก เช่น Carbon Credit /BCG / SDGs โดยการสร้างผู้ประกอบการไทยเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและสร้างสินค้าแบรนด์ไทยที่สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนด้านต่าง ๆ
  • ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ในประเทศ รัฐบาลจะจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อลงทุนพัฒนา Start-up ที่มีศักยภาพให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก สร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจใหม่
  • นำผลของการเจรจา FTA มาสื่อสารทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบที่ได้รับผลประโยชน์จาก FTA ในแต่ละฉบับ เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้มีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น