ตำนาน "บ้านพิษณุโลก" อาถรรพ์วอร์รูมการเมือง

18 ก.ย. 2567 | 13:40 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 15:14 น.

เปิดตำนาน “บ้านพิษณุโลก” ศูนย์บัญชาการที่ปรึกษานายกฯ ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จนถึงนายกฯ เศรษฐา สถานที่แห่งนี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายกับอาถรรพ์วอร์รูมการเมือง

ย้อนเวลากลับไป 36 ปี “ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ถือเป็นหนึ่งในสมญานามสำคัญของคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ในช่วงระหว่างปี 2531-2534 และได้ใช้ “บ้านพิษณุโลก” หรือเดิมชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์” อาคารสวยงามวิจิตรด้วยแบบสถาปัตยกรรมกอทิกเวเนเทียน ที่ออกแบบและดูแลการสร้างโดยนายมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน เป็นฐานบัญชาการ

สำหรับบ้านพิษณุโลกนั้น จากข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า เดิมทีรัฐบาลได้กำหนดให้ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นบ้านพักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา โดยมีการดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมในหลายครั้งหลายครา

เริ่มจากสมัยรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี 2522-2523 ที่ได้สั่งการให้ซ่อมแซม แต่รัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ บริหารประเทศแค่เพียงระยะสั้น ๆ จึงยังไม่ได้ลงมือปรับปรุงอย่างจริงจัง 

ต่อมาในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2523-2531 ได้ซ่อมแซมเพื่อใช้เป็นบ้านพัก ภายหลังซ่อมแซมเสร็จ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้ย้ายเข้าไปอยู่ทันที ซึ่งการย้ายไปพำนักในบ้านพิษณุโลกครั้งนั้น กลายเป็นที่ตื่นเต้นของผู้คนทั่วไป เพราะจะได้ลบภาพเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับอาถรรพณ์ที่มีมาก่อนหน้านี้ และหวังให้เป็นประเพณีปฏิบัติว่า บ้านพิษณุโลก คือ บ้านพักนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 

แต่หลังจากที่ พล.อ.เปรมย้ายเข้าไปพักได้เพียง 7 คืนก็ย้ายกลับไปพักบ้านสี่เสาเทเวศน์เหมือนเดิมโดยไม่มีใครทราบสาเหตุ เสียงเล่าลือเกี่ยวกับเรื่องอาถรรพณ์ก็ถูกเล่าลือกันมากกว่าเดิม

จากนั้นในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ปี 2531-2534 มีการบูรณะตกแต่งบ้านพิษณุโลกเพื่อใช้เป็นที่ทำงานของทีม “ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2531 ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 84/2531 โดยคณะที่ปรึกษาชุดนี้ ได้รวบรวมกูรูชั้นหัวกะทิ ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาสำคัญของประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ กฎหมาย การเมือง และการต่างประเทศ เข้ามาเป็นกุนซือประจำนายกฯ

สำหรับคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 84/2531 ขณะนั้น ประกอบไปด้วย

  • พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษา
  • หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ
  • ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
  • ชวนชัย อัชนันท์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
  • บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
  • สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ
  • ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักวิจัยประจำคณะที่ปรึกษา

อย่างไรก็ดีเมื่อแต่งตั้งคณะทำงานหลักของคณะที่ปรึกษาพิษณุโลกแล้วเสร็จ ยังได้มีการเชิญนักวิชาการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานอีกจำนวนมาก เช่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช วิษณุ เครืองาม สังศิต พิริยะรังสรรค์ นิคม จันทรวิทุร 

โดยมีการแบ่งงานกันทำ เช่น นายไกรศักดิ์ ดูเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน สิทธิมนุษยชน การเจรจาสันติภาพในกัมพูชากับเขมร 3 ฝ่าย การยกเลิก ปร.42 ดร.บวรศักดิ์ ดูเรื่องระเบียบข้อกฎหมาย การร่างวาระ ครม. และระบบการบริหารงานต่างๆ ของนายกรัฐมนตรี

ดร.สุรเกียรติ์ ดูด้านกฎหมายระหว่างประเทศ การเจรจาการค้าและท่าทีต่างๆ ของรัฐบาลในระดับสากล ดร.ชัยอนันต์ ดูเรื่องการปฏิรูปการเมือง ดร.สังศิต และ ดร.นิคม ดูด้านสังคมและแรงงาน เป็นต้น

สำหรับงานสำคัญของคณะที่ปรึกษาพิษณุโลก ชุดนี้ ถือว่าเป็นคณะบุคคลสำคัญกับการอยู่เบื้องหลังนโยบายรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย โดยเฉพาะนโยบายเปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า และการมีบทบาทในแนวคิดที่จะพาประเทศไทยสู่เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ-การค้า ให้ขยายตัวในระดับเอเชียด้วย

ปัจจุบัน อดีตสมาชิกคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกส่วนใหญ่ กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งโดยร่วมคณะทำงาน และคณะที่ปรึกษาของรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร เช่น นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาของนายกฯ แพทองธาร ชิรนวัตร

ขณะที่ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เคยเป็นสูงสุดถึงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ และหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

แต่ท้ายที่สุดกลับถูก คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ยึดอำนาจ!

กล่าวหารัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง พร้อมเข้ายึดและตรวจค้นบ้านพิษณุโลกอย่างละเอียด

ส่วนสมัย "บรรหาร ศิลปอาชา" นายกฯ คนที่ 21 และนายกฯ คนที่ 22 "พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ" ก็ยังไม่เคยเข้าไปพักอาศัยในบ้านพิษณุโลก แต่ให้คณะทำงานที่มาช่วยงานนั่งทำงาน แยกจากทำเนียบรัฐบาล

ต่อมาในยุคนายกฯ "ชวน หลีกภัย" เคยเข้าไปพักอยู่พักหนึ่ง แล้วกลับไปใช้เป็นที่ประชุม ส่วนตัวนายชวนย้ายไปอยู่บ้านซอยหมอเหล็งตามเดิม

สมัย "ทักษิณ ชินวัตร" บ้านพิษณุโลกถูกใช้เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมืองอย่างไม่เป็นทางการ และยังมีการใช้งานพักใหญ่ในระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์ทำเนียบฯ เพื่อเตรียมการต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่มาร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ

จากนั้นบ้านพิษณุโลกถูกปิดเงียบ จนมาถึงสมัย "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นนายกรัฐมนตรี ก็กลับมาใช้บ้านพิษณุโลกเป็นสถานที่ประชุมหลายครั้ง โดยเฉพาะการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจทุก ๆ วันพุธ และการประชุมวาระสำคัญอื่น ๆ ด้วย

กระทั่งเกิดเหตุการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ที่แยกราชประสงค์ ในปี 2553 "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ได้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ขึ้นมา 2 คณะ โดยมี “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย และ “ศ.นพ.ประเวศ วะสี” ราษฎรอาวุโส เป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ โดยใช้บ้านพิษณุโลกเป็นที่บัญชาการ

แต่หลังจากนายกฯ "อภิสิทธิ์" ประกาศยุบสภาในเดือน พ.ค. 2554 ก็หยุดการใช้งานไประยะหนึ่ง จนเมื่อเลือกตั้งเสร็จในสมัยรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เคยใช้บริการบ้านพิษณุโลก เป็นที่รับรองแขกจากต่างประเทศในบางครั้ง แต่ก็ไม่เคยเข้าไปพัก

ส่วนในสมัย "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่การเข้ามาเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนมาถึงช่วงรัฐบาลผสม แม้จะมีเข้าไปทำงานบ้าง แต่ก็ไม่ได้ใช้งานมากนัก  และยังมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ด้วย

มาถึงรัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" มีแนวคิดกลับมาใช้บ้านพิษณุโลกอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2566 ได้เปิดบ้านพิษณุโลกเป็นครั้งแรก เพื่อประชุมนโยบายปราบปรามยาเสพติด พร้อมมีดำริจะใช้เป็นที่ทำงานของคณะที่ปรึกษานายกฯ "9 อรหันต์" และอาจใช้ในงานจัดเลี้ยงบ้าง คล้ายในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย 

แต่นายกฯ เศรษฐา ก็ไม่นอนบ้านพิษณุโลก แต่จะนอนทำเนียบรัฐบาล ด้วยเหตุผลว่า เพื่อความสะดวกของทีมรักษาความปลอดภัยและไม่ต้องการรบกวนเพื่อนบ้าน แต่อย่างไรก็ดีท้ายที่สุด นายกฯ เศรษฐา ก็ต้องเจออุบัติเหตุทางการเมือง และอยู่ในตำแหน่งผู้นำได้เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินพ้นตำแหน่งนายกฯ กรณีแต่งตั้ง "พิชิต ชื่นบาน" เป็นรัฐมนตรี