กกต.ชี้ นายก อบจ. ลาออกก่อนครบวาระอีกเพียบ ล็อกเลือกตั้งอบจ.ไม่เกิน 2 ก.พ. 68

28 ก.ย. 2567 | 10:32 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2567 | 10:47 น.

กกต.คาดมี “นายก อบจ.” ลาออกก่อนครบวาระอีกเพียบ เตือนข้าเกณฑ์ 180 วันก่อนครบวาระใช้งบช่วยภัยพิบัติ เสี่ยงถูกร้องเอื้อประโยชน์ให้ได้รับเลือกตั้ง เล็งเลือกตั้งทั้งประเทศ 26 ม.ค. หรือ 2 ก.พ. 68 ย้ำประชามติพร้อมเลือกอบจ.ไม่เหมาะ เหตุติดเงื่อนไขกฎหมาย

วันนี้(28 ก.ย. 67 ) ที่จ.สมุทรสงคราม นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารจังหวัด (นายก อบจ.) ว่า ณ วันนี้มีที่เลือกไปแล้ว 3 จังหวัด ซึ่งเกิดจากการลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ และคาดว่าน่าจะมีการทยอยลาออกก่อนหมดวาระในวันที่ 19 ธ.ค.2567 เพิ่มอีก 

“เท่ากับว่าบางจังหวัดจะทำให้มีการเลือก 2 ครั้ง คือ มีการเลือกนายก อบจ.ก่อน แล้วเลือกสมาชิก อบจ.อีกครั้งหนึ่ง หาก นายก อบจ.อยู่ครบวาระ ก็จะได้จัดเลือกพร้อมกันได้”

อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีนายก อบจ. ลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระอีกกี่จังหวัด เพราะการลาออกนั้นอยู่เหนือการควบคุม 

“แต่เราก็พอมีข่าวอยู่บ้างว่า น่าจะมีการลาออกอีกหลายจังหวัด ซึ่งก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการจัดการเลือกนายก อบจ. หรือเลือกสมาชิก อบจ.แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเลือกพร้อมกัน หรือเลือกแยก เราก็พร้อมอยู่แล้ว แต่อาจจะกระทบกับงบประมาณ ซึ่งโดยรวมเลือกใหญ่ๆ ก็คือ หลังหมดวาระ 19 ธ.ค. 2567 แต่เลือกวันไหน มีตารางอยู่แล้วว่าใน 45 วัน เราจะทำอะไรบ้าง" 

เมื่อถามถึงแผนการป้องกันปัญหาการจัดกิจกรรมของผู้สมัคร เป็นเหตุให้ต้องจัดเลือกใหม่เหมือนที่เกิดขึ้นที่จังหวัดปทุมธานี นายแสวง กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นการเลือกทั่วไป หรือเลือกแทนตำแหน่งที่ว่าง กกต.มีมาตรการป้องกันเหตุที่จะทำให้เกิดการเลือกที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 

แต่ผู้สมัครเองอาจหวังผลชนะ เลยมีการทำเลยไปจากกฎหมาย ซึ่งเรื่องแบบนี้นับวันจะน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น หรือ ระดับชาติ แต่ก็ไม่ได้วางใจในเรื่องนี้ และมีมาตรการดูแลอยู่ โดยดูเป็นรายจังหวัด บางจังหวัดอาจจะไม่มีการแข่งขัน เพราะมีผู้สมัครคนเดียว

เมื่อถามว่าขณะนี้เข้าเกณฑ์ระยะเวลาที่ อบจ. จะไม่สามารถใช้งบประมาณในกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อการหาเสียงหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า เงื่อนเวลา 180 วันก่อนครบวาระ หากทำตามโครงการงบประมาณประจำปีก็ยังสามารถทำได้ เพราะก็ถือว่ายังเป็นนายก อบจ.อยู่ เขาต้องดูแลประชาชน แต่ถ้าเป็นการทำเกินจากนั้นก็ต้องดูว่า คืออะไร จูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไปออกเสียงหรือไม่ ผิดปกติหรือไม่ ก็ต้องมาดูเป็นรายประเด็นไป 

“คิดว่าอาจจะต้องระวัง บางครั้งเขาอาจจะทำถูก แต่ด้วยความไม่แน่ใจ บางครั้งเลยลาออก เพื่อให้ไม่อยู่ใน 180 วันก็มี แต่การลาออกไม่ได้มีแค่เหตุผลเดียว เป็นเหตุผลทางการเมืองในพื้นที่ก็มี อันนั้นทำให้เราไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าจะมีนายกอบจ.ที่ไหนลออกอีก”

                     แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง

เมื่อถามว่าอาจมีการใช้เรื่องการช่วยเหลือเหตุภัยพิบัติ เพื่อเอื้อประโยชน์หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า จริงๆ เรื่องน้ำท่วมใครก็ช่วยได้ แต่ต้องดูว่าเมื่ออยู่ในช่วง ที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง ต้องอยู่ในข้อกฎหมายเรื่องการหาเสียง แต่สำหรับคนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้วก็ต้องมาดูว่าการช่วยเหลือนั้น อยู่ในแผนงานงบประมาณหรือไม่

"เรื่องการช่วยเหลือน้ำท่วมคงไม่ได้อยู่ในแผนงานการใช้งบประมาณของ อบจ. แต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นแบบกระทันหัน ก็จะดูว่าการช่วยเหลือนั้นสมควรแก่เหตุหรือไม่ เพราะเขาเองก็มีหน้าที่ในการช่วยเหลือ ดังนั้นข้อเท็จจริงแบบนี้เราสามารถแยกดูได้ ถ้าถามว่าเสี่ยงจะมีการ ร้องหรือไม่ผมคิดว่ามีการร้องเรียนแน่นอน แต่เราให้ความเป็นธรรมได้" 

นายแสวง ยังกล่าวถึงการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า กกต. มีหน้าที่ทำประชามติ ในเรื่องใด ตามความเห็นชอบของ ครม. โดย กกต. จะมีปฏิทินการทำงาน หากมีการเสนอการทำประชามติ พร้อมการเลือก อบจ. สามารถทำได้ตามทฤษฎีและการบริหาร 

แต่ในทางกฎหมายอาจมีปัญหาที่ผู้มีสิทธิ์เลือกมีลักษณะคล้ายกันมาก และในบางจังหวัดมีการเลือกนายก อบจ. ไปแล้ว คาดว่างบประมาณอาจจะใช้เป็น 2 เท่า และขณะนี้ความชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายประชามติยังไม่แน่ชัด จึงเห็นว่าการทำอย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า เช่นกันเลือก อบจ. อย่างเดียว คนละวันกับการทำประชามติ

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กรณีการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกอบจ. กรณีครบวาระในวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ซึ่งจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วันนั้น คาดว่าวันเลือกตั้งอาจกำหนดเป็นวันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค. 2568 หรือ วันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ. 2568