เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๗ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตํารวจ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎ ก.ตร.ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตํารวจ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) มาตรา ๗๑ (๕) และมาตรา ๑๓๖ (๓) แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๕ และมติ ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗ จึงออกกฎ ก.ตร. ไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ กฎ ก.ตร.นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (11 ต.ค. 2567)
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (๑) ของข้อ ๔ แห่งกฎ ก.ตร.ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ของการเป็นข้าราชการตํารวจ พ.ศ. ๒๕๖๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๑) เป็นผู้ต้องคําพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ตามกฎหมายว่าด้วย ล้มละลาย”
ข้อ ๓ การใดอยู่ระหว่างดําเนินการตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ของการเป็นข้าราชการตํารวจ พ.ศ. ๒๕๖๖ ก่อนวันที่กฎ ก.ตร. นี้มีผลใช้บังคับ การดําเนินการต่อไป สําหรับการนั้น ให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในกฎ ก.ตร. นี้
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๗ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการข้าราชการตํารวจ
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.ตร. ฉบับนี้ คือ โดยที่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เห็นชอบในการแก้ไขหลักการว่า การกําหนดข้อจํากัดในการดํารงตําแหน่ง หรือ การประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลาย ในกฎหมายปัจจุบันหลายฉบับ ส่งผลเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และทําให้สูญเสียบุคลากรสําคัญ ผู้มีความรู้ความสามารถ ซึ่งการเป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการทํางาน และเจ้าหนี้จะได้รับประโยชน์จากการที่ลูกหนี้มีรายได้
ดังนั้น หากเป็นบุคคลล้มละลายที่ไม่ใช่กรณีทุจริต รวมทั้งที่ไม่ได้ เกิดจากการกระทําผิดของตัวเอง เช่น เป็นผู้ค้ำประกัน ก็ควรให้รับราชการต่อไปได้
แต่หากเป็นบุคคล ล้มละลายทุจริต ตามคํานิยามของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ที่หมายความว่า บุคคลล้มละลาย ที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา ๑๖๓ ถึงมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ นี้ หรือเป็นบุคคลล้มละลาย อันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดฐานยักยอก หรือ ฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา
หรือ การกระทําความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ก็ควรสั่งให้ออกจากราชการ จึงเป็นการสมควร แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎ ก.ตร.ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ จึงจําเป็นต้องออกกฎ ก.ตร.นี้