ชำแหละ 6 คำร้องสอย “ทักษิณ-เพื่อไทย” เลื่อนลอย-ไร้เหตุผล”

20 ต.ค. 2567 | 00:00 น.

นายกสมาคมทนายความ ชำแหละ 6 คำร้อง “ธีรยุทธ” ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เอาผิด “ทักษิณ-เพื่อไทย” เลื่อนลอย ไร้เหตุผล จับโยงกันอย่างสับสน ไม่มีความชัดเจนในทุกเรื่อง ขณะที่นักกฎหมายมหาชนชี้ล้มล้างการปกครองฯ ต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ

KEY

POINTS

 

  • นายกสมาคมทนายความ ชำแหละ 6 คำร้อง “ธีรยุทธ” ยื่นศาล รธน. เอาผิด “ทักษิณ-เพื่อไทย” เลื่อนลอย ไร้เหตุผล ไม่มีความชัดเจนในทุกเรื่อง 
  • นักกฎหมายมหาชนชี้ล้มล้างการปกครองฯ ต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ 
  • มารอลุ้นกันว่าศาล รธน. จะรับคำร้องของ “ธีรยุทธ” ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ไม่เกินกลางเดือน พ.ย.นี้ ได้รู้กัน 
     

ภายหลัง เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2567 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ใช้สิทธิในฐานะประชาชน เข้ายื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยสั่งให้ นายทักษิณ ชินวัตร และ พรรคเพื่อไทย(พท.) เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 

โดย นายธีรยุทธ บรรยาย 6 พฤติการณ์ที่เข้าข่ายดังกล่าว ประกอบด้วย 

1.หลัง นายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี พบว่า นายทักษิณ ใช้พรรคเพื่อไทย(พท.) เป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ  

2.นายทักษิณ มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฮุนเซน อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของไทย 

3.นายทักษิณ สั่งให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับพรรคประชาชน เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

4.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำ เป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลฯ วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง

5.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง  

6.นายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำ และสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นำนโยบายที่ นายทักษิณ ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 ก.ย. 2567 

                                            ชำแหละ 6 คำร้องสอย “ทักษิณ-เพื่อไทย” เลื่อนลอย-ไร้เหตุผล”

ชำแหละ 6 คำร้องธีรยุทธ์

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2567 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ชำแหละ 6 ข้อกล่าวหาของ นายธีรยุทธ ที่มีต่อ นายทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า...

ตามที่ทนายความที่อ้างว่าเป็นอิสระท่านหนึ่ง ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวหาอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) และ พรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวม 6 ข้อ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำดังกล่าวนั้น ผมมีความเห็นดังนี้  

คำร้องที่ 1 ผมเห็นว่าการที่อดีตนายกฯ ไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  และการได้พักรักษาตัวต่อเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 วรรคสาม บัญญัติให้ห้องพักรักษาตัวที่ชั้น 14 เป็นสถานที่คุมขัง อันถือได้ว่าอดีตนายกฯ ยังรับโทษถูกคุมขังอยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีการกระทำใดที่เป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทตามที่กล่าวหา

คำร้องที่ 2 การเจรจาเรื่องเขตพื้นที่ทับซ้อนเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล โดยตามคำร้องก็บรรยายเองว่า “อาจ” ละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย ซึ่งหมายถึงยังไม่มีการกระทำ จึงไม่มีเหตุที่จะขอให้ศาลสั่งให้เลิกสิ่งที่ยังไม่ได้กระทำ

คำร้องที่ 3 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) ผู้มีสิทธิเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้แก่ ส.ส. ส.ว. และประชาชนเข้าชื่อกัน 50,000 ชื่อ ส่วนพรรคการเมืองไม่มีสิทธิยื่นญัตติ จึงไม่มีเหตุที่จะขอให้ศาลสั่งให้ผู้ไม่มีสิทธิเลิกการใช้สิทธิ

คำร้องที่ 4 การพูดคุยทางการเมืองเพื่อหารือถึงผู้ที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ (ถ้ามี) มิได้เกิดขึ้นที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ อันมีลักษณะเป็นสภากาแฟพูดคุยทางการเมือง ซึ่งเป็นเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และ 36 

ส่วนการลงมติเห็นชอบผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ เป็นอำนาจและเอกสิทธิโดยเด็ดขาดของ ส.ส. ตามมาตรา 124 ไม่ใช่อำนาจของพรรคการเมือง และไม่ใช่การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49

คำร้องที่ 5 การคัดสรรผู้สมควรเป็นรัฐมนตรี เป็นหน้าที่และอำนาจ (ไม่ใช่สิทธิ) ของนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจและหน้าที่ จึงไม่ใช่เรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันจะอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้

คำร้องที่ 6 นโยบายที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มาจากหลายพรรคการเมือง รวม 36 คน แต่ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง อีกทั้งพรรคเพื่อไทยมีรัฐมนตรีไม่ถึงครึ่งจึงครอบงำ ครม. ไม่ได้

คำร้องเลื่อนลอย-ไร้เหตุผล

“จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า คำร้องดังกล่าวเลื่อนลอย ไร้เหตุผล จับโยงกันไปมาอย่างสับสน ไม่มีความชัดเจนในทุกเรื่อง เพราะพฤติกรรมตามคำร้องทั้ง 6 ข้อ บางเรื่องก็ไม่ใช่การใช้สิทธิ บางเรื่องก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้องทั้งสอง 

และทุกเรื่องไม่เกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ แม้แต่น้อย แต่มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมและความไม่ปกติที่มาของผู้ร้อง ประกอบกับการเชื่อมโยงและดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง” นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ยื่นคำร้อง นายธีรยุทธ ได้ปฏิเสธว่า การยื่นคำร้องในครั้งนี้ไม่ได้มีใครสั่งการ หรือรับงานใครมา แม้กระทั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่เคยรู้จัก หรือ พบหน้ากันมาก่อน แต่ยอมรับว่า ได้ไปขอคำปรึกษาจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

                                  ชำแหละ 6 คำร้องสอย “ทักษิณ-เพื่อไทย” เลื่อนลอย-ไร้เหตุผล”

ล้มล้างฯ ต้องกำลังดำเนินอยู่

เช่นเดียวกับ นายณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ที่ออกมาชี้ว่า การพิจารณาว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอ ที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์นั้น ถึงระดับที่วิญญูชนควรจักอาจคาดเห็นได้ว่า น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้น จะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ 

ทั้งนี้แนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตนได้นำมาจากความเห็นส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่าน ได้เขียนไว้ในคำวินิจฉัยที่ 14/2564 เป็นการให้ความรู้กฎหมายมหาชนแก่ประชาชน ในการติดอาวุธทางปัญญาว่า เหตุที่นายธีรยุทธ ที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ นายทักษิณ ชินวัตร และ พรรคเพื่อไทย ให้หยุดครอบงำ ครอบครองพรรคเพื่อไทย ให้หยุดล้มล้างการปกครอง จะเข้าองค์ประกอบมาตรา 49 หรือไม่ 

"ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงที่เหวี่ยงแห ถึง 6 ประเด็นที่ทนายธีรยุทธ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอ ที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์นั้น ถึงระดับที่วิญญูชนควรจักอาจคาดเห็นได้ว่า น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้น จะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ" นายณัฐวุฒิ ระบุ

รอลุ้นศาลรับ-ไม่รับคำร้อง  

สำหรับคำร้องของ นายธีรยุทธ ที่ยื่นต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมานั้น เมื่อวันพุธที่ 16 ต.ค. 2567 ยังไม่มีวาระเข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 

เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาเบื้องต้นของ “คณะอนุกรรมการ” ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของตุลาการฯ ทั้ง 9 คน ว่า จะ “รับ-ไม่รับ” คำร้องไว้วินิจฉัย

ทั้งนี้ มีแนวโน้มที่การพิจารณาของคณะตุลาการฯ จะไม่ทันภายในเดือน ต.ค.นี้ แต่คาดว่าคณะอนุฯ จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการชุดใหญ่ได้ ไม่เกินกลางเดือน พ.ย.นี้

มารอลุ้นกันว่า ในที่สุดแล้ว “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะรับคำร้องของ “ธีรยุทธ” ที่ยื่นสอย “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่???