มติสภาฯ 270 ต่อ 152 เสียง ตีตกผลการศึกษานิรโทษกรรม

24 ต.ค. 2567 | 10:41 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2567 | 10:57 น.

มติสภาผู้แทนราษฎร 270 ต่อ 152 เสียง ตีตกข้อสังเกตรายงานการศึกษานิรโทษกรรม หวั่นพ่วงคดี ม.112 ขณะที่ “พรรคประชาชน”ย้ำควรนิรโทษคดี ม.112 ด้วย

วันนี้( 24 ต.ค. 67) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติ  270 ต่อ 152 เสียง ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. เพื่อส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ก่อนหน้านั้น การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระดังกล่าว ค้างมาจากการพิจารณาครั้งที่แล้ว โดย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายพอสมควรแล้วจึงขอให้ที่ประชุมมีการลงมติ

แต่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณกรรมการประสานงานพรรครวมฝ่ายค้าน(ประธานวิปฝ่ายค้าน) หารือว่าได้หารือกับวิปรัฐบาลเห็นตรงกันควรเปิดโอกาสให้สมาชิก รวมถึงกมธ.ได้มีโอกาสอภิปปรายถึงเหตุผลและความจำเป็นซึ่งใช้เวลาไมม่นาน

จากนั้น ประธานที่ประชุม จึงได้เปิดให้ทั้ง 3 ฝ่ายอภิปรายสรุปคนละไม่เกิน 5 นาที

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ในฐานกมธ.สัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ไม่ควรที่จะนิรโทษกรรม มาตรา 112  เนื่องจากเป็นคดีที่มีความอ่อนไหว การรวมมาตราดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหา 2แนวทาง

1.ปัญหาเชิงคุณภาพ เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันยกตัวอย่างมาตรา 130 และมาตรา 135  ที่มีการตีความที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับ มาตรา 112 มิติบุคคลที่ 3 คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่สามารถจะหมุนเวียนไปได้ จึงขอให้กรณีนี้เป็นการพระราชทานขอภัยโทษเป็นกรณีไป

2.การละหรือเว้นโทษเพื่อการสร้างความปรองดองและสันติสุขให้เกิดขึ้น หมายความว่าไม่มีความขัดแย้งเบื้องหน้าเกิดขึ้นอีก 

ตนในฐานะกมธ.สัดส่วนพรรคร่วมไทยสร้างชาติได้รับฟังความโดยพบว่า ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย และอึดอัดใจกับการนิรโทษกรรม ในคดีมาตรา 112

ขณะที่สถิติการดำเนินคดีการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 พบว่า จำนวนทั้งสิ้น 57,966 คดี จำนวนนี้มีคดีมาตรา1 12 แค่ 1,206 คดีเท่านั้น หรือแค่2% ฉะนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม มาตรา 112 แต่ควรเป็นในส่วนของคดีทางการเมืองเท่านั้น

น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม.พรรคประชาชน ในฐานะกมธ.อภิปรายว่า การนิรโทษกรรมมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ควรจะเกิดในยุคนี้มากที่สุด นั่นคือ ยุคที่พรรคการเมืองที่ประชาชนเชื่อว่าอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันสุดขั้วราวฟ้ากับเหว กลับมาจับมือลืมอดีตกันได้โดยที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นในชาตินี้ แล้วทำไมการนิรโทษกรรมจึงจะเกิดไม่ได้

ในกมธ.เราได้มีการถกเถียงกันว่า ควรรวมคดี 112 ไว้ในรายงานหรือไม่ โดยหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่าคดีที่มีความละเอียดอ่อน ยืนยัน ทุกครั้งตั้งแต่การประชุมครั้งแรก จนครั้งสุดท้ายว่าเหตุผลที่เราจะต้องนิรโทษกรรมคดีการเมืองทุกคดีไม่มีข้อยกเว้น และไม่มีเงื่อนไขใด

"นักการเมืองจับมือกันได้ทำไมเราต้องมีปัญหากับบการนิรโทษกรรมประชาชน คุณทักษิณ (ชินวัตร) กลับบ้านได้เรามีปัญหาอะไรกับการที่จะนิรโทษกรรมให้ผู้ลี้ภัยในคดีตามมาตรา 112 ให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติบ้าง" 

นายชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะกมธ.อภิปรายว่า ในอดีตเราเคยมีการนิรโทษกรรมคดี112 มาแล้วในเหตุการณ์ชุมนุม 6 ตุลา 2519 ส่วนตัวมองว่ากรณีที่มีการมองว่าคดี ม.112ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในรายงานอนุกมธ.พิจารณาเห็นพฤติการณ์ รวมถึงจำนวนสัดส่วนคดีอ้างอิงจากเหตุการณ์ความขัดแย้งโดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2ครั้งล่าสุดเห็นว่า มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างแยกไม่ออก 

“หลายท่านเห็นว่าถ้าเรานิรโทษกรรมไปแล้วจะเป็นการไปส่งเสริมให้มีประชาชนบางกลุ่มไปกระทำผิดกฎหมาย บ้านเมืองจะไม่มีขื่อไม่มีแป เราต้องทำให้ชัดว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่การยกเลิกกฎหมาย หรือ ฐานความผิด แต่มีเป้าหมายเพื่อการให้อภัยกันในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์”

นายชัยธวัช ย้ำว่า ไม่ได้เป็นการไปรับรองว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีไม่ได้กระทำความผิด หรือ กระทำผิด การออกกฎหมายนิรโทษกรรมมีความชัดเจนในแต่ละช่วงเวลา ถ้าคิดว่าถ้านิรโทษกรรมแล้วบอกว่าจะเป็นการส่งเสริมการกระทำผิด หรือ ทำให้บ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแปก็ไม่ควรจะนิรโทษกรรมคดีไหนเลย เราอาจจะต้องทบทวนการอภัยโทษเสียด้วยซ้ำถ้าเราเชื่อในตรรกะแบบนี้ 

นายชูศักดิ์ อภิปรายสรุปว่า รายงานนี้ไม่ใช่การเสนอ หรือพิจารณากฎหมาย หรือจะนิรโทษกรรมคดีอะไร แต่เป็นเพียงการศึกษาหาแนวทางว่าแนวทางการนิรโทษกรรมควรจะเป็นอย่างไร โดยนัยให้มีการนิรโทษกรรมที่มีมูลเหตจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาข้อความตรงนี้ไม่มีใครคัดค้าน 

ประเด็นที่มีความอ่อนไหว มีความเห็นขัดแย้งประเด็นใด ที่ยังไม่มีข้อยุติทงออก คือ การรับรู้รับฟังข้อเท็จจริงทุกฝ่ายว่าเขามีความเห็นอย่างไร  

“ยืนยันว่ารายงานฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกที่จะนำไปศึกษาหากจะมีการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไป เปิดประชุมสมัยหน้ามาจะมี4 ร่างกฎหมายที่พกวเราต้องพิจารณาร่วมกัน ขณะนี้มีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 4 ร่างค้างอยู่ในสภา  จึงเชื่อว่ารายงานฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาตรงนั้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างดุเดือด เมื่อนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ถามความชัดเจนเกี่ยวกับการลงมติ เนื่องจากมีผู้ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของกมธ.จึงเสนอให้มีการลงมติ 2 ครั้ง คือ ลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ. และลงมติว่าเห็นด้วยกับรายงานหรือไม่ 

แต่ นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า รายงานฉบับนี้เป็นเพียงแค่รับทราบเท่านั้น ในส่วนของข้อสังเกตของกมธ. หากไม่เห็นด้วยก็ให้มีการเสนอญัตติเพื่อลงมติมา  

ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่านพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง ว่า เรื่องตัวรายงานเป็นรายงานที่เสนอต่อสภาเพื่อรับทราบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา129  เพราะฉะนั้นข้อบังคับประชุมสภาข้อที่ 104 ซึ่งเขียนรองรับรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว  โดยไม่มีข้อบังคับว่าต้องลงมติประเด็นนี้จบไป 

ขณะที่ประเด็นข้อสังเกตของกมธ.นั้น ข้อบังคับข้อที่ 105 เขียนไว้ชัดถ้ากมธ.มีข้อสังเกตไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบ สภาต้องมีมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ว่าจะส่งข้อสังเกตไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบ หรือ ปฏิบัติ

ถ้าสภาไม่เห็นด้วยกับการส่งข้อสังเกตไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อสังเกตก็ตกไป ไม่ต้องส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่รายงานยังอยู่  ข้อสังเกตก็แนบท้ายรายงานนั้น แต่ไม่ถูกเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังสามารถนำมาศึกษาค้นคว้าได้ตลอด 

“การลงมติว่าจะส่ง-ไม่ส่งมีผลผูกพันธ์ เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปแล้วเข้าทราบ หรือปฏิบัติไม่ได้อย่างไร ต้องแจ้งกลับมาภายใน 60วัน ยืนยันว่าข้อสังเกตอย่างไรก็ต้องลงมติ”

จากนั้นบรรยากาศ เป็นไปอย่างดุเดือด เมื่อนายพิเชษฐ์ ถามที่ประชุมว่าจะมีผู้ใดไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตหรือไม่ พร้อมขอให้เสนอญัตติให้ลงมติหรือไม่

ปรากฏว่า นพ.ชลน่าน ตอบโต้ด้วยอาการฉุนเฉียว ว่าตามข้อบังคับข้อที่105 เมื่อมีผู้ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตกมธต้อง "ลงมติ" ไม่ใช่ให้ "เสนอญัตติ" จะเสนอญัตติทำไม  

จากนั้น นพ.ชลน่าน ได้พูดด้วยสีหน้าท่าทางดุเดือดชี้หน้านายพิเชษฐ์ว่า "ถ้าทำไม่ได้ก็เปลี่ยนให้รองประธานสภาคนที่ 2 ขึ้นมาทำหน้าที่
ทำให้ นายพิเชษฐ์ ตอบกลับด้วยอาการฉุนเฉียวว่า "ไม่ต้องชี้หน้าอยากเป็นก็ขึ้นนมา" 

จากนั้นที่ประชุมมีการลงมติ 270 ต่อ 152 เสียง ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของกมธ. เพื่อส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง