วิบากกรรม“ทักษิณ-เพื่อไทย”โยงล้มรัฐบาลแพทองธาร

22 พ.ย. 2567 | 01:30 น.

22 พ.ย.นี้ ลุ้นมติศาลรัฐธรรมนูญ “รับ-ไม่รับ” คำร้อง “ทักษิณ” ล้มล้างการปกครอง ปลายทางยุบพรรคเพื่อไทย-ล้มรัฐบาลแพทองธาร ขณะเดียวกันยังมีอีก 2 คดี “ครอบงำ 6 พรรคร่วม” และ คดี “ม. 112” รออยู่

วันศุกร์ที่ 22 พ.ย. 2567 นี้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีวาระประชุมพิจารณาคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้วินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิบไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 

กรณีนี้แม้ นายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้อง จะยังไม่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรคเพื่อไทย” แต่ถ้าในที่สุดศาลฯ สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ 

“ดาบสอง” ที่จะตามมาก็คือ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่ง “ยุบพรรคเพื่อไทย” และ เอาผิดกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

และหากในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเพื่อไทย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ก็จะถูกศาลตัดสิทธิ์ทางการเมือง เป็นเวลา 10 ปี อันจะนำไปสู่การล่มสลายของ “รัฐบาลแพทองธาร”
 

อสส.ชี้ไม่ล้มล้างการปกครอง  

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามตอบคำถามต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นอกจาก นายไพรัช จะส่งบันทึกสอบถ้อยคำทั้งพยานฝ่ายผู้ร้องเเละผู้ถูกร้อง ไปยังศาลฯ เเล้ว ยังมีความเห็นเเจ้งไปยังศาลฯ ว่า "เรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง" จึงมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะทำงานที่เสนอมายังอัยการสูงสุดก่อนหน้านี้

และมีรายงานว่า เมื่อตอนที่สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับคำร้องจาก นายธีรยุทธ แล้ว ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีคณะทำงานที่มีรองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะทำงานพิจารณา ก่อนส่งไปยังอัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่ง

ทั้งนี้ คณะทำงานมีความเห็นว่า “เรื่องนี้ไม่มีมูล ให้ยุติเรื่อง” โดยแจ้งเหตุผล ว่า 2 ข้อเเรกที่เป็นข้อพาดพิงสถาบันฯ การกระทำของผู้ถูกร้องไม่มีมูลพฤติการณ์ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบัน

ส่วนคำร้องข้อ 3-6 ซึ่งเป็นเรื่องการครอบงำพรรคการเมือง เป็นอำนาจวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทางคณะทำงานจึงมีความเห็นเสนอควรยุติเรื่องไปยังอัยการสูงสุด  

6 ข้อกล่าวหาทักษิณ-เพื่อไทย

สำหรับคำร้องของ นายธีรยุทธ ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหา นายทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย ใน 6 พฤติการณ์ ประกอบด้วย 

1. หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี พบว่า นายทักษิณ ใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ  

2.นายทักษิณ มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับ สมเด็จฮุนเซน อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อน ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของไทย 

3.นายทักษิณ สั่งให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับพรรคประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

4.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำ เป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลฯ วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง

5.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง  

6.นายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นำนโยบายที่ นายทักษิณ ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 ก.ย. 2567

                      วิบากกรรม“ทักษิณ-เพื่อไทย”โยงล้มรัฐบาลแพทองธาร

คดี“ทักษิณ”ครอบงำในมือ กกต. 

นอกจากคดี “ล้มล้างการปกครอง” ที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีกรณีการยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย และอีก 5 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม เนื่องจากยินยอมให้ นายทักษิณ เข้าครอบงำ ชี้นำพรรค เป็นการกระทำความผิดต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

โดยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 นายแสวง บุญมี เลขาฯ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้มีความเห็นในเบื้องต้นว่า คำร้องยุบพรรค 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม มีมูล ฐานยินยอมให้ นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมารวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายใน 30 วัน หากไม่แล้วเสร็จสามารถขยายได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าสอบจะแล้วเสร็จ 

กรณีนี้มีกลุ่มผู้ร้องรวม 4 ราย ได้แก่ บุคคลนิรนาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006 

โดยอ้างถึงพฤติการณ์ของนายทักษิณ ทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับนายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ  หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง 

นอกจากนี้ ยังอ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ หลายครั้ง เกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่นายทักษิณ ที่แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล 

โดยผู้ร้องเห็นว่า เข้าข่ายขัดมาตรา 29 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

การที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เข้าข่ายขัดมาตรา 28 หากการสอบสวน พบว่าเป็นความผิด จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ตามมาตรา 92 (3) ของกฎหมายเดียวกันได้

“ทักษิณ-คดีม.112”ในมือศาลอาญา  

นอกจาก นายทักษิณ ชินวัตร จะเจอวิบากกรรมคดีทางการเมือง ที่อยู่ในมือ ศาลรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้ว ยังมี คดีความผิดเกี่ยวกับ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในมือ “ศาลอาญา”  

โดยเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2567 นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร จากกรณีให้สัมภาษณ์มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน กับสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อปี 2558

ต่อมา วันที่ 18 มิ.ย. 2567 พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญาได้ยื่นฟ้อง นายทักษิณ  ต่อศาลอาญา และให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท พร้อมสั่งห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาต
ถัดมาวันที่ 19 ส.ค.2567 ศาลกำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ทั้งหมด 7 นัด โดยฝ่ายโจทก์ 10 ปาก นัดในวันที่ 1, 2 และ 3 ก.ค.2568 จำนวน 3 นัด 

และนัดสืบพยานฝ่ายจำเลย  14 ปาก เริ่มในวันที่ 15, 16, 22 และ 23 ก.ค. 2568 จำนวน 4 นัด หลังจากนั้นจะจัดทำคำพิพากษาของศาล
คดีนี้ประมาณปลายปี 2568 ถึงจะรู้ผลคำพิพากษา

โดยคดีนี้ “ทักษิณ” มีโทษจำคุก เป็นเดิมพัน...