KBANK ปล่อยกู้รายเล็ก รวม 23,000 ล้าน ใช้เทคโนโลยีพิจารณา เดินหน้า ‘ชาเลนเจอร์แบงก์’

18 พ.ย. 2565 | 11:13 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2565 | 18:33 น.

กสิกรไทย เร่งเครื่อง“ชาเลนเจอร์แบงก์” พบ 9 เดือนอนุมติสินเชื่อให้ลูกค้ารายเล็กกว่า 500,000 ราย โดยใช้เทคโนโลยีพิจารณาอนุมัติ ไม่ต้องมีเอกสาร ยืนยันรายได้หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1 ล้านคนใน 18 เดือน เดินหน้าลงทุนเทคโนโลยี กว่า 2.2 หมื่นล้านบาท

 

หลังประกาศเดินหน้าเชิงกลยุทธ์มูลค่า 1 แสนล้านบาทไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเร่งลงทุนและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับคนไทยและคนที่มีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเองที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคารหรืออาจจะเข้าถึงบริการของธนาคารแล้ว แต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ให้สามารถเข้าถึงบริการธนาคารมากขึ้น

 

ล่าสุดนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน)หรือ KBANK เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคาร กสิกรไทย ได้อนุมัติสินเชื่อขนาดเล็กให้กับผู้ประกอบการอิสระและไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ รวมวงเงินมากกว่า 23,000 ล้านบาท ให้กับผู้คนมากกว่า 500,000 ราย

 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน)

 

 

“เราเดินหน้าอย่างรวดเร็วตามเป้าหมายผสานความเป็น ชาเลนเจอร์แบงค์ เข้ามาในองค์กร ขยายบริการธนาคารไปยังกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคาร เนื่องจากอยู่นอกเกณฑ์การพิจารณาประเมินสินเชื่อแบบเดิมๆ ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มคนที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร หรืออาจจะเข้าถึงบริการของธนาคารแล้วแต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ หลุดพ้นจากกับดักหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง” นางสาวขัตติยากล่าว

KBANK ปล่อยกู้รายเล็ก รวม 23,000 ล้าน ใช้เทคโนโลยีพิจารณา เดินหน้า ‘ชาเลนเจอร์แบงก์’

 

ทั้งนี้ ธนาคารต้องการช่วยคนนับล้านๆ ให้เข้าถึงและได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธนาคารได้ จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและใช้เทคโนโลยี เพื่อที่จะสามารถบรรลุภารกิจข้างต้น รวมถึงยกระดับการให้บริการลูกค้าปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้นไปด้วย

 

ด้านนายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทยกล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าขยายโอกาสการเข้าถึงและได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธนาคาร โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่ผู้คนเป็นจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นถึง 1 ล้านคน ภายใน 18 เดือนและในอีก 24 เดือน จะขยายเป็นราวๆ 2 ล้านคน 

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย

 

ขณะเดียวกัน ธนาคารกสิกรไทย กำลังเดินหน้าการลงทุนต่างๆ ในเรื่องเทคโนโลยี ด้วยงบลงทุนประมาณ 22,000 ล้านบาท สำหรับปีนี้และในช่วง 2 ปีข้างหน้า

 

การเดินหน้าดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชิงกลยุทธ์ของธนาคารที่่มุ่งขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคาร ให้กับคนไทยจำนวนกว่า 30 ล้านคน ที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร หรืออาจจะเข้าถึงบริการของธนาคารแล้ว แต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ  ซึ่งนี่คือสิ่งที่ธนาคาร กสิกรไทย เรียกว่าเป้าหมายการผสานเอาความเป็น “ชาเลนเจอร์แบงค์” เข้ามาในองค์กร

 

“โครงการดังกล่าวตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และวิธีการทำงานแบบใหม่ๆของธนาคาร มาช่วยผู้คนที่ทำงานอาชีพอิสระ เกษตรกร และเจ้าของกิจการขนาดเล็กๆ ผู้ที่อาจจะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรืออาจจะมีไม่เพียงพอ ให้สามารถขอเงินกู้ได้ โดยใช้การประเมินที่เป็นธรรมมากขึ้นจากการพิจารณาที่ความสามารถและความตั้งใจในการชำระคืนเงินกู้ของผู้กู้” นายกฤษณ์กล่าว

 

ทั้งนี้ ในจำนวนที่ได้รับเงินกู้ไป 500,000 รายนั้นมีีประมาณ 63,000 ราย เป็นเจ้าของกิจการที่มีรายได้น้อยกว่า 2.5 ล้านบาทต่อปี กู้ผ่านโครงการ “สินเชื่อเงินด่วนเพื่อธุรกิจ” ในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม วงเงินกู้รวมเกือบ 5,000 ล้านบาท

 

นอกจากนั้น เป็นบุคคลทั่วไปที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน จำนวนประมาณ 215,000 ราย ได้รับเงินกู้สูงสุดถึง 20,000 บาทต่อราย ผ่านโครงการ “K PAY LATER” ของธนาคารกสิกรไทย

 

“เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่า เงินกู้จากโครงการ K PAY LATER ถูกนำไปใช้ในการซื้อของใช้ประจำวันที่จำเป็น โดยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการนำไปใช้จ่ายกับร้านค้าที่ขายของใช้จำเป็น เช่น พันธมิตรของเรา อาทิ บิ๊กซี โลตัส ซี​ เจ​ เอ็กซ์​เพรส ปตท. เซ็นทรัล และ แม็คโคร” นายกฤษณ์กล่าว

 

นอกจากนั้น เมื่อเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงระบบธนาคาร และได้เห็นว่า ผู้กู้มีความรับผิดชอบในการชำระคืนเงินกู้เป็นอย่างดี ธนาคารจะเพิ่มวงเงินกู้ให้คนกลุ่มนี้ และขยายการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอื่นๆ เพิ่มเติมให้กับหลายๆ คนในกลุ่มนี้ได้อีกด้วย สะท้อนจากจำนวนการทำธุรกรรมผ่าน K PAY LATER ที่เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน คือตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคมของปีนี้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,837 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565