เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ สถานีชาร์จไฟได้รับอานิสงส์เติบโตตาม ล่าสุดบริษัท อีแกท ไดมอนด์ เซอร์วิส จำกัด หรือ EDS ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนของ กฟผ.ถือหุ้นในสัดส่วน 45% บริษัท มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ในเอเชียแปซิฟิก (MPW-AP) ถือหุ้นในสัดส่วน 30% บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น (MC) ถือหุ้นในสัดส่วน 15 % และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 10% ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ (EV Ecosystem) และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถอีวี ตามเทรนด์ของรถอีวีมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตอบโจทย์องค์กรและนโยบาย 30&30 และเป้าหมายความเป็น
กลางทางคาร์บอนปี 2050 และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์( Net Zero) ภายใน ปี 2065 ของประเทศ
นายนัฐวุธ พิริยะจิตตะ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อีแกท ไดมอนด์ เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า แผนงานในครึ่งปีหลัง 2566 EDS ได้พัฒนาเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว หรือ DC Fast Charger ที่ผลิตโดยคนไทย ขนาด 120 และ 150 กิโลวัตต์ มีจุดเด่นคือผ่านการทดสอบมาตรฐาน International Electrotechnical Commission (IEC) จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) จึงมีความปลอดภัยต่อทั้งตัวรถและผู้ใช้อีวี และมีความเสถียรในการจ่ายไฟ สามารถสื่อสารและเชื่อมโยงการใช้งานผ่านระบบแอปพลิเคชัน รองรับการชาร์จหลากหลายรุ่นในปัจจุบัน
ในส่วนของต้นทุนการผลิตเมื่อเทียบกับผู้เล่นอื่นๆ ในตลาด สามารถแข่งขันได้ เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าชาร์จเจอร์จากยุโรปถึง 20% และมีราคาใกล้เคียงกับชาร์จเจอร์จากจีน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเป็นเจ้าของในราคาที่เหมาะสม และเข้าถึงการบริการหลังการขายได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นโดยผู้ประกอบการไม่ต้องทำอะไรเลย
ทั้งนี้ EDS ตั้งเป้าผลิต DC Fast Charger ในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ไว้ประมาณ 20 เครื่อง สำหรับติดตั้งภายในสถานี EleX by EGAT ทั้งในพื้นที่ของ กฟผ. และเอกชน โดยเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน PT จาก ปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ที่ 50 ตู้ชาร์จ 100 หัวจ่าย นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้จะได้เห็น EDS พัฒนาต่อยอดชาร์จเจอร์กำลังไฟที่ 400 กิโลวัตต์ สำหรับรถบัส และรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อลดระยะเวลาในการเข้าชาร์จไฟในแต่ละครั้ง
นายนัฐวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน กฟผ. ได้นำ DC Fast Charger ที่ผลิตโดย EDS ใช้งานจริงที่สถานีชาร์จ EleX by EGAT โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางบนถนนสายหลักของถนนพหลโยธินจากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดในภาคเหนือและอีสาน
“EDS เชื่อมั่นว่า ความสำเร็จในการพัฒนา DC Fast Charger ฝีมือคนไทยในครั้งนี้ จะเป็นบันไดก้าวสำคัญในการพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ขับเคลื่อนสู่ธุรกิจ New S Curve และสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า EV Ecosystem ของประเทศอย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้แล้ว EDS ยังร่วมกับ EleX by EGAT เตรียมพร้อมที่จะขยายเครือข่ายการใช้งานเครื่องอัดประจุไฟฟ้า DC Fast Charger เชิงพาณิชย์ให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เพื่อต่อยอดให้กับสถานีซาร์จ EleX by EGAT ที่ตั้งเป้าหมายจะขยายสถานีชาร์จในเครือข่ายให้มีจำนวนรวมกว่า 180 สถานี ภายในสิ้นปี 2566 จากปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 120 สถานีทั่วประเทศ