อลัง!เมืองใหม่อัจฉริยะอีอีซี เชื่อมกรุงไร้รอยต่อ บูมไทยเมืองคนรายได้สูง

20 ส.ค. 2565 | 06:27 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2565 | 14:53 น.

อลัง!เมืองใหม่อัจฉริยะอีอีซี เชื่อมกรุงไร้รอยต่อ บูมไทยเมืองคนรายได้สูง“คณิศ”ส่งต่อวิชั่นอีอีซี 2570 ตั้งเป้าลงทุนต่ออีก 2.2 ล้านล้านใน 5 ปี หนุนจีดีพีไทยโตทะลุ 5% ยกชั้นประเทศติดกลุ่มรายได้สูงปี 2572 เกิด“เมืองการบินอู่ตะเภา-เมืองใหม่อัจฉริยะ” กรุงเทพฯ2 ไร้รอยต่อ

 

งานสัมมนา EEC : NEW Chapter NEW Economy จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ นายคณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) (หมดวาระดำรงตำแหน่ง  17 ส.ค.2565) กล่าวถึงกล่าวต่อไปอีอีซีว่า จากความสำเร็จของการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

 

              

 

ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ การพัฒนาบุคลากร การดึงนักลงทุนจำนวนมาก มาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก่อให้เกิดเม็ดเงินการลงทุนแล้วราว 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้การขับเคลื่อนอีอีซีมีความต่อเนื่อง

ดังนั้น จากช่วงปี 2566 ไปจนถึงปี 2570 หรือ Vision EEC 2570 ใน 5 ปีต่อจากนี้ พื้นที่อีอีซีจะยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายการลงทุนในพื้นที่ไว้จะเพิ่มสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท จากการต่อยอดของโครงสร้างพื้นฐาน

 

 

เช่น เมืองการบินภาคตะวันออกและการพัฒนาพื้นที่ระยะ 30 กิโลเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภา ราว 1 แสนล้านบาท และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าหลักอีกราว 1 แสนล้านบาท รวม 2 แสนล้านบาทต่อปี

              

รวมถึงการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 1.5 แสนล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นส่วนของยานยนต์สมัยใหม่ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี การแพทย์และสุขภาพ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

 

และการขนส่งและโลจิสติกส์ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี รวม 5 ปี คิดเป็นเงินลงทุน 7.5 แสนล้านบาท และยังเป็นการลงทุนจากฐานเดิมอีก 2.5 แสนล้านบาทต่อปี รวมลงทุน 5 ปี ราว 1.25 ล้านล้านบาท

อลัง!เมืองใหม่อัจฉริยะอีอีซี เชื่อมกรุงไร้รอยต่อ  บูมไทยเมืองคนรายได้สูง

นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของการพัฒนาเมืองใหม่ขึ้นมารองรับ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 ได้อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

 

ใช้ประโยชน์ที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 14,619 ไร่ พื้นที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ห่างจากพัทยาไปราว 10 กิโลเมตร เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ที่จะต้องใช้เงินลงทุนอีกราว 1.34 ล้านล้านบาทในระยะ 10 ปี (2566-2575)

              

สำหรับศูนย์ธุรกิจและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ในระยะแรกจะดำเนินการในพื้นที่ 5,000 ไร่ จะเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมพื้นที่ คาดว่าจะเปิดดำเนินการแล้วเสร็จได้ในช่วงปี 2570

 

โดยพื้นที่ดังกล่าว จะประกอบไปด้วย 1.โซนศูนย์สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจต่างประเทศและธุรกิจไทยที่มีธุรกิจในอีอีซี และศูนย์ราชการสำคัญ 2.โซนศูนย์กลางการเงินอีอีซี ที่จะสนับสนุนการลงทุน Fin Tech และ Green Bond

              

 

3.โซนศูนย์การแพทย์แม่นยำและการแพทย์เพื่ออนาคต ที่จะมีการร่วมทุนกับโรงพยาบาลชั้นนำของโลก รวมถึงยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย 4.โซนศูนย์การศึกษา วิจัย-พัฒนาระดับนานาชาติ ที่จะมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก จับมือกับมหาวิทยาลัยของไทย งานวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเฉพาะด้าน

 

และ 5.โซนศูนย์ธุรกิจอนาคต ที่จะมีการพัฒนาพลังงานสะอาด กลุ่ม Digitization และ 5G กลุ่มโลจิสติกส์ วิทยาศาสตร์การกีฬาระดับนานาชาติ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยมีการพัฒนารองรับกลุ่มรายได้เริ่มต้นถึงปานกลาง คิดเป็นสัดส่วนราว 70 % และกลุ่มมีรายได้สูง 30 %

              

พร้อมทั้งมีระบบขนส่งสาธารณะที่มี Feeder และ TOD ที่เชื่อมต่อจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีระบบดิจิทัล 5 G และ IOC มีการจัดหาพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า และระบบการจัดการน้ำที่พึ่งพาตนเอง น้ำประปาดื่มได้

 

และระบบการจัดการขยะเป็นศูนย์ พื้นที่ศูนย์ราชการเมืองใหม่อัจฉริยะอีอีซี จะเป็นชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 30 % ของพื้นที่

              

ทั้งนี้ หากการพัฒนาแล้วเสร็จในปี 2570 พื้นที่อีอีซีจะกลายเป็นส่วนขยายของกรุงเทพมหานคร ไปทางภาคตะวันออก เพราะในพื้นที่อีอีซี จะมีมหานครการบินภาคตะวันออกในพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภา หรือ Aerotropolis และศูนย์ราชการและเมืองใหม่อัจฉริยะอีอีซี และพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงหลัก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯแบบไร้รอยต่อ

              

 

นายคณิศ ย้ำอีกว่า ประการสำคัญการลงทุนในพื้นที่อีอีซี จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยในพื้นที่อีอีซี จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยในระยะ 5 ปี จากนี้ราว 7-9% ต่อปี ขณะที่พื้นที่นอกอีอีซีจะขยายตัวได้ 3-4% ทำให้เศรษฐกิจรวมของทั้งประเทศสามารถขยายตัวได้ที่เฉลี่ย 5%

 

ช่วยยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรเพิ่มเป็น 3.5 แสนบาทต่อคนต่อปี หรือรายได้ครัวเรือนต่ำสุดในพื้นที่อีอีซีจะมากกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน และจะส่งผลให้ไทยจะเข้าสู่ประเทศรายได้ระดับสูง หรือประเทศพัฒนาในปี 2572

               อนึ่ง โครงการศูนย์ธุรกิจและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ มีมูลค่าลงทุน 1.34 ล้านล้านบาท ใน 10 ปี (2566-2575) เพื่อรองรับธุรกิจใหม่และประชากร 350,000 คน ในรัศมี 30 กิโลเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นเงินลงทุนเอกชนเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1.18 ล้านล้านบาท

 

 

โครงการ PPP 1.31 แสนล้านบาท เพื่อจัดทำสาธารณูปโภคในเมือง ระบบขนส่งอัจฉริยะและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนของภาครัฐ 37,674 ล้านบาท แบ่งเป็น สกพอ. 28,541 ล้านบาท และภาครัฐอื่น 9,133 ล้านบาท ครอบคลุมเป็นค่าปรับพื้นที่ ค่าที่ดิน ค่าโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในเมือง

              

 

ผลตอบแทนการลงทุนของตลอดอายุโครงการ 50 ปี จะมีรายได้รวม 43.31 ล้านล้านบาท โดยภาครัฐจะได้รับค่าเช่าที่ดิน ค่าส่วนกลาง ส่วนแบ่งรายได้จาก PPP รวม 270,000 ล้านบาท และเอกชนได้รับ 43.04 ล้านล้านบาท จากรายได้ระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่พาณิชย์ รวมกำไรตลอดโครงการ 39 ล้านล้านบาท