ผุดเมืองใหม่ คู่แฝดพัทยา จ่ายชดเชยที่สปก.1.4 หมื่นไร่ ‘ห้วยใหญ่-บางละมุง’

28 ก.ค. 2565 | 01:20 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2565 | 08:20 น.

ที่ดินบางละมุง ชลบุรี ร้อนฉ่า บิ๊กตู่ปักหมุดเมืองใหม่อีอีซี  1.3 ล้านล้านพลิกที่ดินสปก.ตำบลห้วยใหญ่ 14,619 ไร่ สู่ย่านอยู่อาศัย-ธุรกิจระดับโลก ลุยชดเชย เวนคืนปลายปีนี้ 4 หมู่บ้านชี้ชัดหมู่ 13 บ้านหนองผักกูดมากสุด ประเดิมเฟสแรก 2,000 ไร่ เชื่อมไฮสปีดอู่ตะเภา ทล.331บูม

เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) กลับมาเดินหน้าอีกครั้งเมื่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติอนุมัติร่างแผนแม่บทและแผนการดำเนินงาน โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และ เมืองใหญ่น่าอยู่อัจฉริยะ วงเงินลงทุนประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท

 

หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รวมถึงเมืองการบิน  มีความชัดเจนกำหนดลงมือตอกเสาเข็มได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ ประเมินว่าจะสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้เข้าพื้นที่

 

 

ยึดที่สปก.ปั้นเมืองใหม่

              

แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่พัฒนา เมืองใหม่อัจฉริยะ ใน อีอีซี แล้ว โดยเลือกตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี บนที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรม (ส.ป.ก.) เนื้อที่ 14,619 ไร่ จากที่ผ่านมาได้เคยศึกษาไว้เมื่อปลายปี 2563 ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลโป่ง ตำบลห้วยใหญ่ และตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี รวมกว่า 7 หมื่นไร่ รองรับการเดินทางของคนต่างถิ่นอีกทั้งต่างชาติเข้าพื้นที่อีอีซีในระยะ 20 ปีข้างหน้า  โดยเบื้องต้น เลือกตำบลห้วยใหญ่ เนื้อที่ 1.46 หมื่นไร่ แต่หากมีความต้องการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น  อาจจะขยายพื้นที่เพิ่มในอนาคต

              

สำหรับการเลือกใช้ที่ดินส.ป.ก. เพราะมีต้นทุนที่ไม่สูง สามารถรวมแปลงขนาดใหญ่เป็นผืนเดียวกันได้อีกทั้ง ไม่มีการคัดค้านมาก เพราะเป็นที่ดินของรัฐ ขณะการกว้านซื้อที่ดินของนายทุนได้รับการบอกเล่าจากคนในพื้นที่ว่ามีแต่เมื่อมีการเวนคืนจะได้รับค่าชดเชยสะท้อนตามราคาที่เป็นจริง

              

ส่วนการพัฒนาจะเน้นรูปแบบเมืองที่ไม่มีอาคารที่สูงแต่เน้นใช้ชีวิตการอยู่อาศัย, การทำงานที่เต็มไปด้วยความสุขและสะดวกสบาย คาดว่าจะมีการออกแบบรายละเอียดในไม่ช้านี้

 

เปิดเอกชนเช่าพัฒนาพื้นที่             

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกระบุว่าเป็นโครงการลงทุนประกอบด้วย ภาครัฐลงทุนเรื่องที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการส่วนกลาง

 

โดยมีการแบ่งพื้นที่เป็นโซนเพื่อให้เอกชนหรือรัฐวิสาหกิจเช่าที่ดินหรือร่วมลงทุนหรือลงทุนในกิจการด้านระบบสาธารณูปโภค หรือเอกชนเช่าพื้นที่ลงทุนด้านพื้นที่พาณิชย์ อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย สะดวกสบาย  มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน

 

การเชื่อมต่อระบบโครงข่ายคมนาคมอัจฉริยะที่สะดวกรวดเร็ว มีระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ที่ครบถ้วน เกิดประโยชน์กับประเทศ ไทยโดยรวม และจะมีเมืองรองที่ทันสมัย มีเมืองใหม่แห่งอนาคต เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองเน้นความน่าอยู่ เป้าหมายพัฒนาโครงการ 10 ปี มีเงินลงทุนโครงการประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท              

 

“ประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะของ EEC คือสามารถรองรับประชากรได้ 350,000 คน ภายในปี 2575 รวมทั้งสร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2575 และมีมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีธุรกิจและบริการมาตรฐานสากล มีวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ประมาณ 150-300 กิจการ”

 

ซื้อที่ดิน-จ่ายชดเชยรวดยกหมู่บ้าน              

ด้านการดำเนินการจะใช้การเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะดำเนินการได้ปลายปีนี้ หรือต้นปี 2566  ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่ 6 บ้านบึง, หมู่ 11 บ้านมาบฟักทอง, หมู่ 12 บ้านนอก, หมู่13 บ้านหนองผักกูด ซึ่งพื้นที่ที่กระทบมากที่สุดจะอยู่ที่หมู่ 13 โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นแปลงเกษตรของประชาชน ทั้งสวนยางพารา, สวนปาล์ม, สวนมะพร้าว ,มันสำปะหลัง ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาทีมอีอีซีได้ลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้ว ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ล่าสุดอยู่ระหว่างต่อรองราคาเนื่องจากชาวบ้านให้เหตุผลว่าราคาที่ชดเชยตํ่าเกินไป              

 

ด้านแหล่งข่าว จากเทศบาลตำบลห้วยใหญ่ กล่าวว่า คณะกรรมการอีอีซี ในพื้นที่ชลบุรี ได้คัดเลือกพื้นที่บ้านหมู่ที่ 13 เป็นพื้นที่นำร่อง ที่ตั้งสำนักงานอีอีซีเนื้อที่ราว 2,000 ไร่   ได้ทำประชาคมในพื้นที่เกี่ยวกับการนำที่ดิน ส.ป.ก. ไปใช้ประโยชน์พัฒนาเป็นเมือง ซึ่งจะต้องมีการถอนสภาพจากที่ดินพื้นที่สีเขียวเกษตรกรรมเป็นพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ตามผังเมืองรวมอีอีซี

              

อย่างไรก็ตาม ผลของการเจรจามีทั้งเห็นด้วยและไม่เห้นด้วยเนื่องจากค่าชดเชยที่ประเมินยังถือว่าตํ่าขณะราคาที่ดิน ส.ป.ก. ที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ ติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 (สัตหีบ -เขาชีจรรย์) ราคาบวก-ลบ 1 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งราคาขยับขึ้นต่อเนื่อง

 

เปิดทำเลทองใหม่              

ทำเลที่ตั้งเมืองใหม่ ตำบลห้วยใหญ่ จะตั้งอยู่ติดกับทางหลวงหมายเลข 331 (สัตหีบ-เขาชีจรรย์)  บริเวณสถานีตำรวจภูธร ห้วยใหญ่ บางละมุง หรือใช้เส้นทางมอเตอร์ เวย์ สาย 7 มุ่งหน้าไปจังหวัดระยอง เลี้ยวซ้ายลงด่านโป่ง ตรงไปบางละมุง ใกล้สนามพีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต, ธรรมศาสตร์ พัทยา ราคาที่ดินน่าจะขยับสูง              

 

เหตุผลที่เลือกตำบลห้วยใหญ่ เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางที่สะดวกและใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูงใกล้เขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใกล้แหล่งท่องเที่ยวอย่างเมืองพัทยา ใกล้สนามบินอู่ตะเภา  อีกทั้งยังใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เวลาเดินทางจากตำบลห้วยใหญ่ เพียง 1 ชั่วโมง              

 

เป้าหมายพื้นที่เมือง ได้กำหนดรูปแบบการพัฒนาเบื้องต้นโดยพื้นที่หมู่ 11 เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ จะพัฒนาเป็นโครงข่ายถนนขนาด 4-8 ช่องจราจร เชื่อมไปยัง หมู่ 13 ที่จะเป็นพื้นที่นำร่องเฟสที่ 1 โดยรัฐจะจ่ายเงินชดเชยที่มีอยู่ล็อตแรก 1,500 ล้านบาท เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด              

 

อย่างไรก็ตาม ที่ดินที่มีแผนพัฒนามีทั้งหมด 7 หมื่นไร่ แต่จะทยอยพัฒนาเป็นคราวละเฟส ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการใช้พื้นที่ 

  ผุดเมืองใหม่ คู่แฝดพัทยา จ่ายชดเชยที่สปก.1.4 หมื่นไร่ ‘ห้วยใหญ่-บางละมุง’