ปั้นเมืองใหม่อีอีซีสะพัด! เคาะชดเชยล็อตแรก 2,000ไร่ 1,500 ล้านบาท ต.ค.65

28 ส.ค. 2565 | 13:11 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2565 | 21:01 น.

ที่ดินห้วยใหญ่ บางละมุง ระอุ! สกพอ. เคาะงบประมาณปี2566 จ่ายชดเชย ปั้นเมืองใหม่อัจฉริยะ ล็อตแรก 1,500 ล้านบาท คลุม 2,000ไร่ เกือบ 100 ครัวเรือน จากเป้า 5,000 ไร่ ประเดิมที่อยู่อาศัย-ศูนย์ธุรกิจ

ภายหลังจาก  คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ แผนพัฒนา โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ มูลค่า 1.34 ล้านล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 บนที่ดินส.ป.ก.

 

ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)  14,619 ไร่  ตำบลห้วยใหญ่  อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีเพื่อ รองรับนักลงทุนไทยและต่างชาติ รวมถึงแรงงาน ในอีก10ปีข้างหน้า ( ปี2566-2575)  อีกทั้งยังเห็นชอบให้สกพอ.ขอรับจัดสรรงบในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 15,000 ล้านบาท 

ปั้นเมืองใหม่อีอีซีสะพัด!  เคาะชดเชยล็อตแรก 2,000ไร่ 1,500 ล้านบาท ต.ค.65

ในทางกลับกัน  แหล่งข่าวจากสกพอ.เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ได้รับจัดสรร งบประมาณในปี2566 เพียง 1,500ล้านบาทหรือคิดเป็น 10%ของวงเงินที่เสนอไป จึงได้ที่ดินที่จะชดเชยในระยะแรก เพียง2,000ไร่ จากเป้าที่วางไว้ 5,000ไร่ ซี่งมองว่าไม่ใช่ปัญหา

 

 

โดยผู้ที่ได้รับชดเชยมีเกือบ100ครัวเรือน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6แสนบาท ต่อไร่ ประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการและต้องการอยู่ในกลุ่มที่ได้รับชดเชยระยะแรก เพราะนอกจากได้รับค่าชดเชยแล้วบุตรหลานสามารถเข้าทำงานในเมืองดังกล่าวอีกด้วย

 

ส่วนกลุ่มที่ไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ สกพอ.จะเว้นพื้นที่นั้นไว้ให้เป็นลักษณะพื้นที่สีเขียวทำการเกษตรรูปแบบเดิม  แต่หากเปลี่ยนใจสามารถเข้าร่วมในระยะต่อไปได้

ปั้นเมืองใหม่อีอีซีสะพัด!  เคาะชดเชยล็อตแรก 2,000ไร่ 1,500 ล้านบาท ต.ค.65

สำหรับแผนพัฒนาโครงการในระยะแรกจะประกอบด้วย ที่อยู่อาศัยสำหรับราคาที่จับต้องได้เพื่อรองรับกลุ่มคนทำงาน โซนพัฒนาพื้นที่สำนักงานซึ่งเป็นศูนย์ธุรกิจรองรับนักธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุน และสำนักงานระดับภูมิภาคของอีอีซีรวมถึงศูนย์ราขการถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน

 

 

ขณะเดียวกัน หากเป็นไปได้จะย่อส่วนให้มีกิจกรรมทุกรูปแบบเข้ามาอยู่บนพื้นที่ดังกล่าวมองว่าสามารถทำได้เพราะเมืองควรมีสาธารรูปโภค บริการสาธารณะครบครัน เพื่อดึงความสนใจของนักลงทุน

 

 

การเชื่อมโยงการเดินทางจะใช้ระบบฟีดเดอร์ ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบล้อ และระบบราง เพื่อขนคนจำนวนมากภายในเมืองใหม่ ออกสู่ สนามบินอู่ตะเภาเมืองการบิน  ซึ่งตั้งอยู่ห่างกัน15กิโลเมตร รวมถึงใกล้เมืองพัทยา สถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพียง10กิโลเมตรและห่างจากกรุงเทพมหานครเพียง 160กิโลเมตร ขณะราคาที่ดินรัศมีโดยรอบขยับขึ้นต่อเนื่อง

 

 

สำหรับศูนย์ธุรกิจและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ในระยะแรก(ตามเป้าหมาย) ดำเนินการในพื้นที่ 5,000 ไร่ จะเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมพื้นที่ คาดว่าจะเปิดดำเนินการแล้วเสร็จได้ในช่วงปี 2570

 

โดยพื้นที่ดังกล่าว จะประกอบไปด้วย 1.โซนศูนย์สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจต่างประเทศและธุรกิจไทยที่มีธุรกิจในอีอีซี และศูนย์ราชการสำคัญ 2.โซนศูนย์กลางการเงินอีอีซี ที่จะสนับสนุนการลงทุน Fin Tech และ Green Bond

             

 

3.โซนศูนย์การแพทย์แม่นยำและการแพทย์เพื่ออนาคต ที่จะมีการร่วมทุนกับโรงพยาบาลชั้นนำของโลก รวมถึงยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย 4.โซนศูนย์การศึกษา วิจัย-พัฒนาระดับนานาชาติ ที่จะมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก จับมือกับมหาวิทยาลัยของไทย งานวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเฉพาะด้าน

 

และ 5.โซนศูนย์ธุรกิจอนาคต ที่จะมีการพัฒนาพลังงานสะอาด กลุ่ม Digitization และ 5G กลุ่มโลจิสติกส์ วิทยาศาสตร์การกีฬาระดับนานาชาติ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยมีการพัฒนารองรับกลุ่มรายได้เริ่มต้นถึงปานกลาง คิดเป็นสัดส่วนราว 70 % และกลุ่มมีรายได้สูง 30 %

             

พร้อมทั้งมีระบบขนส่งสาธารณะที่มี Feeder และ พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีขนส่งสาธารณะ(TOD)ที่เชื่อมต่อจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีระบบดิจิทัล 5 G และ IOC มีการจัดหาพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า และระบบการจัดการน้ำที่พึ่งพาตนเอง น้ำประปาดื่มได้

 

และระบบการจัดการขยะเป็นศูนย์ พื้นที่ศูนย์ราชการเมืองใหม่อัจฉริยะอีอีซี จะเป็นชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 30 % ของพื้นที่

             

ทั้งนี้ หากการพัฒนาแล้วเสร็จในปี 2570 พื้นที่อีอีซีจะกลายเป็นส่วนขยายของกรุงเทพมหานคร ไปทางภาคตะวันออก เพราะในพื้นที่อีอีซี จะมีมหานครการบินภาคตะวันออกในพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภา หรือ Aerotropolis และศูนย์ราชการและเมืองใหม่อัจฉริยะอีอีซี และพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงหลัก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯแบบไร้รอยต่อ