ตลาดเฉลิมลาภย่านการค้าเก่าแก่แยกประตูน้ำกลายเป็นตำนานบทใหม่เมื่อสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้าห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่การโยธารื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่7ไร่เศษ เป็นเวลา360วันนับตั้งแต่วันที่7ตุลาคม2564
เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัท เอส.พี.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ส์ แอนด์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด เครือกลุ่มแพลทินัมฐานะคู่สัญญาหลังชนะประมูลด้วยมูลค่า3,000ล้านบาทเช่าพื้นที่ระยะยาว30ปี นับตั้งแต่ปี2555 เพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าบนแปลงที่ดิน
ขณะความล่าช้าเกิดจากปมข้อพิพาทระหว่างผู้เช่าเดิม ทั้ง 697 สัญญากับสำนักทรัพย์สินฯไม่ยินยอมออกจากพื้นที่หลังสัญญาเช่าหมดอายุลง ในเวลาต่อมาสำนักงานทรัพย์สินฯ ส่งหนังสือขอยุติสัญญาการเช่าเมื่อวันที่9มีนาคม2555 พร้อมขอคืนพื้นที่เพื่อนำมาพัฒนาใหม่โดยให้เหตุผลว่าสิ่งปลูกสร้างมีอายุการใช้งานมานาน
สภาพส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรม และในครั้งนั้นทางกลุ่มแพลทินัมได้เสนอแบบก่อสร้างเป็นโรงแรม แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 กินระยะเวลานานประกอบกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ตะวันตก)เปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งไม่ได้อยู่บริเวณแยกประตูน้ำทำให้จุดขายแปลงที่ดินอาจมีศักยภาพลดลงทำให้แผนพัฒนาเงียบลงอีกครั้งและมีการวางแผนปรับการพัฒนาโครงการใหม่
ส่วนแนวสถานีสายสีส้มที่ใกล้ที่สุดจะอยู่บริเวณสถานีห้างค้าส่ง เออีซี เทรดเซนเตอร์ - พันธ์ทิพย์ โฮลเซล เดสติเนชั่น ของ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือAWC บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ใต้ปีก เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดีและ จุดตัดสถานีราชปรารภกับแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งมองว่าไม่ห่างกันมากนัก
“ฐานเศรษฐกิจ” สอบถามคนในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเมินว่าหากมองในภาพรวมทำเลแยกประตูน้ำเป็นทำเลศักยภาพเชื่อมโยงย่านศูนย์กลางธุรกิจการค้าสำคัญ ทั้ง แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ ถนนพระราม1 เพลินจิต ชิดลม สยามสแควร์ ฯลฯ ที่เต็มไปด้วยโรงแรมศูนย์การค้าขนาดใหญ่ โครงการคอนโดมิเนียมหรู และยังสามารถเชื่อมโยงกับเมืองมักกะสัน
โครงการมิกซ์ยูสระดับโลกที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัดเครือซีพี คู่สัญญาการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เตรียมเข้าพื้นที่พัฒนา ขณะราคาที่ดินอยู่ประมาณ1.5ล้านบาทต่อตารางวา และยังขยับได้อีกหากรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดให้บริการ ขณะปัจจุบันต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตยังย่านประตูน้ำและแยกราชประสงค์ ราชดำริเป็นจำนวนมาก
แหล่งข่าวจาก กลุ่มแพททินัมเปิดเผยว่า หลังชนะประมูลสัญญาระยะยาว30ปี มูลค่า3,000ล้านบาทเมื่อปี2555 บริษัทมีแผนเข้าพื้นที่ราวปี2566 พัฒนาเป็นตลาดนัดชั้นนำกลางใจเมือง หรือ แพททินัม มาร์เก็ตหลังประสบความสำเร็จกับ เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ราชประสงค์ ตั้งใจรวบรวมของดีของเด็ดจากตลาดดังทั่วกรุงเทพฯ
ขณะบริเวณหัวมุม แยกประตูน้ำ หรือถนนราชปรารภตัดกับถนนเพชรบุรี จะรายล้อมไปด้วย ศเดอะพาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง @ ประตูน้ำโรงแรมโนโวเทล แพลทินั่มสแควร์ 1-2 เซ็นทรัลเวิลด์แยกราชประสงค์ฯลฯ แต่ในระยะยาวมองว่าจะพัฒนาเป็นโรงแรม มิกซ์ยูส รองรับการมาของต่างชาติ
เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเพราะเป็นแปลงที่ดินขนาดใหญ่ที่หาได้ยากยิ่งกลางใจเมืองด้านการพัฒนาพื้นที่รองรับการมาของรถไฟฟ้าสายสีส้ม พบว่า ตลอดแนวถนนเพชรบุรีเชื่อมสู่แยกราชเทวีสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ของค่ายบิ๊กแบรนด์ ชั้นนำ
ขณะ AWCอยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่ศูนย์ค้าส่งเออีซีเทรนด์เซ็นเตอร์รับกับกับการเปิดประเทศและรถไฟฟ้าสายสีส้มในอนาคต หลังจากจับมือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมด้วย 11 สมาคมการค้า ผลักดันโครงการ “เออีซี เทรด เซ็นเตอร์-พันธุ์ทิพย์ โฮลเซลล์ เดสติเนชั่น” ปรับโฉม พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ สู่ศูนย์ค้าส่งใจกลางเมืองใหญ่ที่สุดในอาเซียน
เพื่อ สนับสนุนผู้ประกอบการค้าส่งภายในประเทศ ทั้งร่วมมือกับผู้พัฒนาตลาดค้าส่งจากจีน เชื่อมโยงสู่ตลาดนานาชาติครบวงจรด้วยการร่วมมือกับ Yiwu - CCC Group ผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อู ประเทศจีน เพื่อเพิ่มศักยภาพและเชื่อมโยงช่องทางนำเข้า-ส่งออกสินค้าให้กับผู้ผลิตและผู้ค้าไทยกับตลาดโลก และเป็นการยกระดับขีดความสามารถของประเทศอีกด้วย