อนันดาฯ แจง ศาลสั่งเพิกถอน ใบอนุญาต แอชตัน อโศก จ่ออุทธรณ์ คุ้มครองลูกบ้าน

30 ก.ค. 2564 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2564 | 22:13 น.

บมจ.อนันดา ชี้แจง กรณีศาลปกครองกลาง พิพากษา สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง คอนโดฯหรู แอชตัน อโศก เตรียมใช้สิทธิอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด ดูแลลูกค้า และเจ้าของร่วม ขณะผู้บริหารโครงการ ย้ำ ดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง ยังไม่มีผลกระทบต่อการอยู่อาศัย

30 กรกฎาคม 2564 - จากกรณีวันนี้ ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง "แอชตัน อโศก" ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม "แอชตัน  อโศก" ตามคำร้องของชาวบ้านในพื้นที่ถนนสุขุมวิท ซอย 19 แยก 2 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ยื่นฟ้อง ผอ.สำนักงานเขตวัฒนา  ผอ.สำนักการโยธา กทม.  ผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ คณะกรรมการผู้ชาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน  และบริการชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-5  

 

โดยศาลปกครองกลาง พิจารณาว่า ผู้ถูกฟ้องข้างต้น  ได้ร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ด้วยการ อนุญาต บจก.อนันดา เอ็มเอฟ เอเชียอโศก  ดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารชุดที่พักอาศัยแอชตัน อโศก ซึ่งเป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดความสูง 51ชั้น รวมชั้นใต้ดิน ในพื้นที่ขนาด 2.3ไร่ ในซอยสุขุมวิท 19 แยก2 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
 
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลาง ให้เหตุผลว่า ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารโครงการแอชตัน อโศก ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  ฉะนั้นการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ทำการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโครงการแอชตัน อโศก ที่ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


จึงสมควรที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับแจ้งการก่อสร้างอาคารพิพาททุกฉบับ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อมิให้คำสั่งดังกล่าวมีผลในระบบกฎหมายต่อไป โดยระบุ โครงการ แอชตัน อโศก ซึ่งเป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดความสูง 51ชั้น รวมชั้นใต้ดิน ในพื้นที่ขนาด 2.3ไร่ ในซอยสุขุมวิท 19 แยก2 ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
 

ล่าสุดเมื่อเวลา 21.30 น. บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด(มหาชน) ทำหนังสือ ชี้แจง ต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า ....

อนันดาฯ แจง ศาลสั่งเพิกถอน ใบอนุญาต แอชตัน อโศก จ่ออุทธรณ์ คุ้มครองลูกบ้าน

 

ตามที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ของโครงการ แอชตัน อโศก ที่ดำเนินการ โดยบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัดนั้น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)ในนามผู้บริหารโครงการและผู้ถือหุ้นขอเรียนว่า เป็นเพียงคำตัดสินของศาลปกครองกลางเท่านั้น และบริษัทฯในฐานะผู้บริหารโครงการยังมีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษาดังกล่าวในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สำคัญ จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด

 

ดังนั้น คำพิพากษาศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลขั้นต้นยังไม่มีผลบังคับจนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด จึงยังไม่มีผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของเจ้าของร่วมแต่อย่างใดกรณีพิพาทดังกล่าว บริษัทฯ ผู้บริหารโครงการขอยืนยันว่าบริษัทฯได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โดยผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนดังที่เคยแจ้งต่อสาธารณชนมาก่อนหน้านี้แล้ว

 

บริษัทฯขอให้ความมั่นใจว่า บริษัทฯในฐานะผู้บริหารโครงการจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าและเจ้าของร่วมอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะมีการแจ้งให้เจ้าของร่วมและ ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านได้ทราบถึงความคืบหน้าต่อไป

 

ทั้งนี้ ย้อนไป กรณีพิพาท โครงการแอชตัน อโศก ซึ่งมีมูลค่าโครงการมากกว่า 6 พันล้านบาท มีการเปิดตัวเมื่อปี 2557 ตั้งอยู่ บนที่ดินกว่า 2 ไร่ บริเวณสุขุมวิท ซอย 19 แยก 2  อาคารชุดสูง 50 ชั้น 783 ยูนิต ที่จอดรถ 371 คัน ในระดับราคาเปิดตัวขณะนั้น เริ่มต้น 7 ล้านบาทต่อยูนิต หรือ เฉลี่ย 2.3 แสนบาทต่อตร.ม. เกิดปัญหาขึ้นเมื่อช่วงปี 2560 หลังจาก โครงการก่อสร้างเสร็จสิ้น 100% แต่ยังไม่ได้รับเอกสารรับรองการก่อสร้างและเปิดใช้อาคาร (อ.6) จากกรุงเทพมหานคร จนนำไปสู่การไม่สามารถส่งมอบห้องชุดให้กับลูกค้าที่จองซื้อได้ทันภายในไตรมาส 1 ปี 2560 และขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2562 

 

จากมูลเหตุปัญหา หลังจากมีผู้ไปร้องต่อศาลปกครอง ทั้งในส่วนของกลุ่มสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและคนในชุมชนว่าถนนส่วนหน้าโครงการนั้น ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) น่าจะไม่ได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย ประเด็นนี้ขณะนั้น บมจ.อนันดา ยืนยันว่า การขอใช้พื้นที่ของ รฟม. เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทางเข้าออกของโครงการแอชตัน อโศก เป็นการปฏิบัติตามระเบียบ การขอใช้พื้นที่ ของ รฟม. ปี 2556 ซึ่งเป็นระเบียบเดียวกันกับที่หลายโครงการในกทม.มากกว่า 10 แห่ง ที่ทำสัญญากับ รฟม.ในการใช้พื้นที่เช่นกัน ก่อนทำเรื่องยื่นอุทธรณ์เพื่อขอคุ้มครอง และขอให้ทางกทม.ออกใบอนุญาตใช้อาคารให้เร็วที่สุด  อีกปัญหา คือ การร้องเรียน แง่ทางสาธารณะในซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 และ ชาวบ้าน ยังขอให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการดังกล่าวอีกด้วย