โค้งสุดท้าย ของการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2565 หรือก่อนวันที่ 30 เมษายน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างแจ้งเตือนประชาชนให้รีบชำระภาษี ให้ทันกำหนดระยะเวลา
เพราะไม่เช่นนั้นจะมีเบี้ยปรับ และอาจถึงขั้นถูกระงับกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามมา มองว่าความเข้มงวดของภาษีเกิดการซ้ำเติมเจ้าของที่ดินที่ได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์โควิดเศรษฐกิจถดถอย
ซ้ำร้ายกว่านั้นกระทรวงการคลังได้มีนโยบายให้ท้องถิ่นเรียกเก็บภาษีที่ดินในอัตราเต็ม 100% โดยไม่ลดหย่อนเหมือนสองปีก่อน ขณะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นระบุว่า อปท.ส่วนใหญ่จะไม่ขยายเวลาชำระภาษีเหมือนเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ มหานคร (กทม.) ที่มีกำหนดขยายไปถึงวันที่ 30 มิถุนายนจะมีเพียงบางท้องที่เท่านั่นที่ประกาศขยายเวลาออกไป
“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจ เทศบาลนครนนทบุรี ท้องถิ่นขนาดใหญ่ในเขตปริมณทล ซึ่งมีรอยต่อเชื่อมโยงกับกทม. พบว่า มีประชาชน เดินทางมาชำระภาษีที่ดิน เฉลี่ยวันละ 400-500 ราย ส่วนใหญ่ เจ้าพนักงานท้องถิ่นระบุว่า เป็นคอนโดมิเนียมหลังที่สอง
เนื่องจากจังหวัดนนทบุรีมี คอนโดมิเนียมเกิดขึ้นจำนวนมากจากอิทธิพลรถไฟฟ้าโครงข่ายถนน ราคาเฉลี่ย 1-2 ล้านบาทต่อหน่วย ขณะราคาประเมินที่ดิน ทำเลติดถนนรัตนาธิเบศร์ถนนกรุงเทพนนท์ ถนนงามวงวานศ์ อยู่ที่ 1.4-1.5 แสนบาทต่อตารางวา ขณะราคาตลาดจะบอกขายกันตามความพึงพอใจ
อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีในอัตราเต็ม 100% มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาต่อว่าท้องถิ่นและรัฐบาลว่าทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเคยเสียเพียง หลักร้อยบาทขยับเป็นหลักพันหลักหมื่นบาท สวนทางกับรายได้ที่ลดลง
ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ตื่นกลัว ค่าปรับ หากชำระหลังวันสิ้นสุด ชำระภาษี 15 วัน จะถูกปรับ 40% ของยอดภาษีที่ดิน แต่มีประชาชนบางกลุ่มไม่ยินยอมเสียภาษี ได้ทำความเข้าใจและขยายเวลาชำระภาษีให้ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม นี้
ขณะเทศบาลเมืองจังหวัดปทุมธานี ได้ประกาศให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบผ่านช่องทางออนไลน์ว่าขณะนี้ใกล้สิ้นสุดกำหนดระยะเวลา ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างภายในเขตเทศบาลเมืองปทุมธานีที่จะต้องชำระภาษี
ดังนั้นเพื่อให้การชำระภาษีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เทศบาลจึงปรับขยายเวลาให้บริการประชาชน คือ 1.ขยายเวลาการให้บริการในช่วงพักเที่ยง12.00น.ถึง 13.00 น. 2. วันศุกร์ที่ 29 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการให้บริการเปิดให้บริการตั้งแต่ 0.8.30-18.00น.
จากการสอบถามไปยังเทศบาลเมืองบึงญี่โถ จังหวัดปทุมธานี เจ้าพนักงานระบุว่า เนื่องจากการประเมินพื้นที่ยังไม่ทันจึงขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน ทั้งนี้ที่ดินในพื้นที่ส่วนใหญ่มีพื้นที่ว่างไม่ทำประโยชย์ค่อนข้างมาก และมีประชาชนบางรายไม่พอใจที่ต้องรับภาระภาษีค่อนข้างสูง จากที่ดินซึ่งเป็นที่นา กว่า 100 ไร่แต่สภาพพื้นที่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็นพื้นที่การเกษตร
ขณะผู้เช่ารายเดิม บอกเลิกเช่า ทำให้ปีนี้จึงเสียภาษีที่ดินรวมกว่า5หมื่นบาท จากเดิมรัฐบาลลดหย่อน 90% เสียภาษีเพียงหลักพันบาท และในหลายพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนายทุนมาจากกทม.ซื้อที่ดินและ ปลูกกล้วยทิ้งไว้แต่มาปีนี้ เกิดล้มตายปลูกใหม่ทดแทนไม่ทัน
สะท้อนว่า ไม่ได้ทำเกษตรจริง เป็นเหตุให้ต้องเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ดินว่างเปล่า เสียภาษีอัตรา 0.3% ซึ่งเจ้าของที่ดินไม่พึงพอใจ หากยังปล่อยให้รกร้าง ปี 2566 อัตราภาษีจะขยับไปที่ 0.6% ผสมโรงกับราคาประเมินที่ดินใหม่กรมธนารักษ์ ที่ปรับสูงขึ้น
ทางออกหากประชาชนต้องการชำระภาษีลดลงต้องปรับพื้นที่ทำการเกษตรและควรบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในหลายท้องถิ่นจะขยายเวลาออกไปเพราะต้องการช่วยเหลือประชาชนและประเมินไม่ทัน
สำหรับโซนภาคตะวันออก เทศบาลตำบลบ้านค่ายจังหวัด ระยอง ได้ออกประกาศถึงผู้มีหน้าที่ชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ขอให้มาชำระภาษีฯ ภายในเดือนเมษายนนี้ โดยเตือนว่าหากเกินกำหนดต้องเสียเบี้ยปรับสูงสุด 40% ของค่าภาษีเสียเงินเพิ่ม 1% ต่อเดือนและถูกระงับกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เช่นเดียว อปท.ภาคใต้ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เหล จังหวัดพังงาและเทศบาลตำบลเขาพนมจังหวัดกระบี่ ยืนยันว่าต้องมาชำระภาษีในเวลาที่กำหนด คือไม่เกินสิ้นเดือนเมษายนนี้
ส่วนภาคอีสาน เทศบาลนครขอนแก่นมองว่าประชาชนให้ความร่วมมือแม้รัฐไม่ลดหย่อนภาษีและยังคงเดินทางมาติดต่อเทศบาลต่อเนื่อง