การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับที่4 ต้องหยุดชะงักลง และมีแนวโน้มว่าจะบังคับใช้ประมาณปลายปี2567ทั้งที่เดิมที มีกำหนดประกาศใช้ปี2563 ถึงปี2564ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การผังเมือง ใหม่ บังคับใช้ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ส่งผลให้ ทุกขั้นตอนของการจัดทำผังเมืองทุกฉบับต้องนับหนึ่ง
ปฏิบัติให้สอดรับตามกฎหมายใหม่ ประกอบกับเกิดสถานการณ์โควิด19ระบาดรุนแรง ไม่สามารถเริ่มเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ได้ รวมถึงต้องรอการแต่งตั้งคณะกรรมการผังเมืองชุดใหม่จากกระทรวงมหาดไทย เมื่อนายชัชชาติ สุทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เริ่มงานนับตั้งแต่วันที่1มิถุนายน 2565
มีนโยบายเร่งด่วน หนึ่งในนั้นคือผลักดันให้ผังเมืองกทม.ฉบับใหม่บังคับใช้โดยเร็ว หลังจากล่าช้ามานาน แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการได้ ขั้นตอนการพิจารณาค่อนข้างมากเนื่องจากการวางผังเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในคราวเดียวกัน
ดังนั้นอำนาจสทธิ์ขาดจึงไม่สามารถดำเนินการได้เฉพาะกทม.เพียงลำพัง แม้ผู้ว่าฯกทม.มีเจตนาที่ดี เพื่อให้นักพัฒนาที่ดิน ตลอดจนประชาชนได้มีโอกาสใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มขึ้นเต็มศักยภาพก็ตาม
ทั้งนี้ประเมินว่า กทม.ดำเนินการได้เฉพาะ กรอบที่อำนาจพึงมี เช่น การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดทำผังเมือง ทั้งทาง ออฟไลน์และออนไลน์ การจัดโซนแบ่งกลุ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนประชาชน จากนั้นต้องเดินเข้าสู่ขั้นตอนของคณะกรรมการฯ
ทั้งนี้นโยบายที่นายชัชชาติต้องการคือการวางผังเมืองเพื่อครอบคลุมทำเลแหล่งงานกระจายไปอยู่ชานเมืองไม่จำเป็นต้องกระจุกในเขตศูนย์กลางธุรกิจการค้าอย่างสุขุมวิท เพลินจิต วิทยุ สีลม สาทร ฯลฯ
โดยทำเลที่ผู้ว่าฯกทม.ให้ความสนใจและสามารถเนรมิตแหล่งงานใหม่ ผสมผสานไปกับการอยู่อาศัยสำหรับคนทุกระดับ เช่นจตุจักร รัชดาภิเษก พระราม9 มักกะสัน ตามแนวรถไฟฟ้า มุ่งพัฒนาศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน กิจกรรมเชิงพาณิชย์ร้านค้า
เพื่อลดการเคลื่อนย้ายคนเข้ากระจุกตัวย่านใจกลางเมือง แต่ในส่วนของการวางผังเมืองกทม.ที่ผ่านมาได้กำหนดโซนพัฒนาเชิงพาณิชย์ขนาดย่อมย่านชานเมืองไว้แล้ว
อย่างไรก็ตามผังกทม.ใหม่ได้ให้น้ำหนักการพัฒนาโซนกรุงเทพตอนเหนือ ตั้งแต่ สถานีกลางบางซื่อ หมอชิต เก่า จตุจักร เชื่อมโยงรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ไปตามถนนพหลโยธิน ซึ่งจะมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ โรงแรม อาคารพาณิชย์สำคัญ เชื่อมกับ แยกรัชโยธิน
วิ่งวนไป ถนนวิภาวดี มีกระทรวงพลังงงาน ปตท. ซึ่งเป็น เกตเวย์การเดินทางแหล่งงานขนาดใหญ่ ขณะตลาดนัดจตุจักรนายชัชชาติเคยระบุว่าเป็นพื้นที่สร้างงานสร้างอาชีพที่มีเสน่ห์ในตัว และกลายแลนด์มาร์คระดับโลกที่ต่างชาติให้ความสนใจ
ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโซนตะวันออกของกทม.ทำเลรัชดา-พระราม9 มีอัตราการเกิดขึ้นของอาคารสำนักงาน ค่อนข้างสูง และเป็นย่านช็อปปิ้งขนาดใหญ่ มีรถไฟฟ้าทั้งสายสีส้มและสายสีน้ำเงินสร้างความเจริญให้กับพื้นที่
เช่นเดียวกับมักกะสันที่มีทุนยักษ์ใหญ่มีแผนพัฒนา เพิ่มศักยภาพแหล่งงาน การเดินทางเชื่อมโยงด้วยรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงเชื่อว่าที่นี่จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่น่าจับตาอีกแห่ง
อย่างไรก็ตามการบังคับใช้ผังเมืองรวมกทม.ใหม่ในอีก2ปีข้างหน้า อาจเป็นช่วงจังหวะทองของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ธุรกิจอสังหาฯเริ่มเฟื้องฟูกำลังซื้อทั้งไทยและต่างชาติกลับมา