ดัน“ห้าแยกลาดพร้าว” ชินจุกุเมืองไทย ขุมทองจุดเปลี่ยนถ่ายสัญจรระบบราง

09 ต.ค. 2565 | 01:11 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2565 | 10:19 น.

ปรับใหญ่ผังเมืองกทม.ยก “ห้าแยกลาดพร้าว”ชินจุกุเมืองไทย จุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรทางรางจากทุกสารทิศแซงการพัฒนาที่ดินรอบสถานีกลางบางซื่อ รัฐ

 

"ห้าแยกลาดพร้าว"ทำเลศักยภาพทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร ขุมทองอสังหาริมทรัพย์ ขนาดใหญ่ ที่มีบิ๊กเนมระดับแถวหน้าของเมืองไทย รวมตัวกันมากที่สุดอีกทำเล เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมรองรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตัดMRTสีน้ำเงิน ดึงลูกค้าคนรุ่นใหม่ตอบโจทย์ การอยู่อาศัยในเมืองแนวเส้นทางรถไฟฟ้า กันอย่างคึกคัก

 

ส่งผลให้ ราคาที่ดินขยับขึ้น อย่างต่อเนื่องสวนทางสถานการณ์โควิดเศรษฐกิจชะลอตัว เมื่อเทียบกับราคาที่ดินช่วงก่อนมีรถไฟฟ้าสายสีเขียวพาดผ่านอยู่ที่ 5-6แสนบาทต่อตารางวา แต่ปัจจุบัน ตารางวาละกว่า 1ล้านบาท โดยเฉพาะบริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวและมีแนวโน้มปรับขึ้นได้อีก เพราะเป็นทำเลที่คนต้องการอยู่อาศัยและเดินทางเข้าใจกลางเมืองเชื่อมต่อไปยังพื้นที่อื่นได้สะดวกโดยไม่ต้องกังวลกับจราจรติดขัด

 

ชินจุกุเมืองไทยขุมทองจุดเปลี่ยนถ่ายทางราง

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ห้าแยกลาดพร้าวถูกพลิกโฉมไปไกล  ด้วยอิทธิพลรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นจุดตัดสำคัญ อีกทั้งอนาคตจะมีสายสีเหลืองเข้ามาเติมเต็ม ทั้ง สร้างส่วนต่อขยาย วิ่งรับส่งผู้โดยสาร ผ่านเส้นลาดพร้าวเข้าถนนรัชดาฯ เชื่อมผ่านเข้ากับพหลโยธินกับสายสีเขียว   ทำให้บริเวณนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรทางรางสำคัญ 

 

เพราะเป็นจุดกึ่งกลางดึงคนที่ใช้รถไฟฟ้าจากทุกสารทิศ ทั้งตะวันออกตก  ฝั่งธนบุรี ฝั่งตะวันออก รวมถึงจากเขตกรุงเทพชั้นใน เข้ามาเปลี่ยนผ่านบริเวณนี้ ทำให้มีผู้คนคึกคักเดินกัน ขวักไขว่ทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งร้านรวงเล็กใหญ่ ร้านอาหารกินดื่ม ไม่มีหลับไหล ทำให้เอกชนให้ความสนใจลงทุนคอนโดมิเนียมกันตลอดแนว

 

ประเมินว่า ได้เกิดการแซง หน้า“ฮับทางราง”  สถานนีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ของรัฐบาล ที่ต้องการใช้เป็นจุดดึงดูดนักลงทุน เข้าพื้นที่   สะท้อนจากปัจจุบันบริเวณปากทางลาดพร้าว(ห้าแยกลาดพร้าว) 

 

เปลี่ยนจากตึกแถวเก่าเป็นคอนโดมิเนียมอาคารสำนักงาน มิกซ์ยูสกันอย่างอึกกระทึก และขยายวงออกไปมากขึ้น อนาคตที่นี่จะเป็นแหล่งงานใหม่ที่เติมเต็มและเป็นทั้งที่อยู่อาศัยในคราวเดียวกัน ทำให้ มีทั้งคนซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่อาศัย ในราคาไม่สูงมากเพื่อเดินทางต่อโดยรถไฟฟ้าเข้าใจกลางเมือง

 

ขณะบางกลุ่มซื้อเพื่อปักหลักอยู่อาศัย ทำงานรวมถึงการช็อปปิ้ง ในจุดเดียว อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การเปิดประเทศให้คนต่างชาติและคนไทยใช้ชีวิตได้ตามปกติ  จะเห็นความความเจริญที่พลิกผันจากการการนำที่ดินแปลงใหญ่ขึ้นโครงการกันมากขึ้น ทำให้ที่นี่ถูกยกระดับ เป็น “ชินจุกุ” เมืองไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว    จากตัวแปรของผังเมือง รถไฟฟ้า  การพัฒนาของภาคเอกชน 

 

ปรับใหญ่ผังเมืองกทม.สร้างได้8เท่า

ในอนาคตยังเสริมความแข็งแกร่งปรับใหญ่ ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่4 ที่มีเป้าหมายบังคับใช้ในปี2567อย่างช้าปี2568 ยกระดับบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีน้ำตาลประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากก่อสร้างอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่พิเศษได้8เท่าของแปลงที่ดิน จากจตุจักรยาวไปจรดแยกรัชโยธินถือเป็นทำเลทองคำที่มีศักยภาพสูง

 

ส่วนสีผังปัจจุบันเป็นพื้นที่สีส้มที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย สร้างได้ 5-6เท่าของแปลงที่ดินเท่านั้น และมีจุดเล็กๆ เป็นพื้นที่สีแดงบริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว บนที่ดินสามเหลี่ยมติดถนนพหลโยธินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่สร้างความเจริญให้กับพื้นที่โดยรอบมาก่อนหน้านี้

 

อีกทั้งมียูเนียนมอลล์ ศูนย์การค้ายอดนิยมและอาคารสำนักงานหลากหลายทั้งอาคารการบินไทย  ปตท. อาคารเอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เกิดขึ้นอยู่ก่อนหน้า และอนาคต กำลังพลิกโฉมจากที่ดินอีกหลายแปลง  โดยฝั่งถนนวิภาวดี ทะลุพหลโยธินเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสและMRTสีน้ำเงิน

 

ที่บริษัทสิงห์เอสเตท จำกัด(มหาชน) ซุ่มพัฒนาซอยเฉยพ่วงอวดโอมอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ทันสมัย “ เอส โอเอซีส”เติมเต็มอาคารสำนักงานที่มีอยู่เดิมผนวกกับ ร้านค้าร้านอาคารชั้นนำให้ดูมีคลาสแต่จับต้องได้กลางใจเมืองกรุงเทพฯตอนเหนือ ห่างกันไม่มากฝั่งของถนนพหลโยธิน  บีทีเอสกรุ๊ปอยู่ระหว่างกำลังก่อสร้าง “หมอชิตคอมเพล็กซ์”  ตึกแฝดสูงใหญ่มิกซ์ยูสขนาดใหญ่รองรับคนทำงานในย่านนี้

 

บิ๊กทุนขานรับ

นายชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซาแลน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด กลุ่มทุนมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น แลนด์ลอร์ดใหญ่ทำเลห้าแยกลาดพร้าวระบุว่าแม้สถานการณ์โควิดจะทำให้การขายคอนโดมิเนียมไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดหวังไว้แต่ หลังจากนี้ น่าจะคึกคักขึ้น

 

เพราะเป็นย่านที่ใครก็โหยหาอยากเข้ามาอยู่อาศัย โดยเฉพาะรัศมี300เมตรจากสถานี แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายระดับราคาขายค่อนข้างพรีเมียมไม่ต่ำกว่า 3-4 ล้านบาทต่อหน่วยขึ้นไป โดยมีตัวแปรจากรถไฟฟ้า ราคาที่ดินแพงและมีความเคลื่อนไหวการลงทุนอย่างต่อเนื่องอีกทำเล

 

รวมทั้งจุดเด่นปอดขนาดใหญ่และตลาดนัดสวนจตุจักรซึ่งสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นจัดอันดับติดอันดับ1ใน10ของโลก และการเดินทางบนถนนวิภาวดีรังสิต เชื่อมโยงไปสนามบินทั้งสองแห่งโดยไม่ติดสัญญาณไฟ และที่นี่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่รองจากกรุงเทพฯชั้นในที่น่าจับตาและมีเสน่ห์ในตัวที่น่าค้นหายิ่ง

 

จากการวิเคราะห์ของ  นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัดบริษัท วิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประเมินว่า ก่อนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวตอนเหนือช่วงห้าแยกลาดพร้าว – คูคต เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ในปี 2563

 

ได้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมมาอย่างต่อเนื่อง  เพราะเป็นเส้นทางที่อยู่ในแผนการพัฒนามาหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว โดยทำเลที่น่าจับตาได้แก่ ห้าแยกลาดพร้าว รัชโยธิน รอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะพานใหม่ เป็นต้น

ดัน“ห้าแยกลาดพร้าว” ชินจุกุเมืองไทย ขุมทองจุดเปลี่ยนถ่ายสัญจรระบบราง