จี้รัฐเปิดทางต่างชาติ กู้ซื้อที่อยู่อาศัยไทยกระตุ้นเศรษฐกิจ

16 ต.ค. 2565 | 02:08 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2565 | 09:24 น.

อสังหาฯ จี้ รัฐปลดล็อค ต่างชาติกู้แบงก์ผ่อนบ้านในไทยได้ หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลัง “กอบศักดิ์ “ ธนาคารกรุงเทพจุดประกาย ให้แบงก์ชาติ ผ่อนปรน

 

ช่วงไตรมาส4  ปีนี้ พบสัญญาณฟื้นตัวของ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มดีขึ้นโดยมีตัวแปรมาจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย รัฐบาลเปิดประเทศเต็มรูปแบบรวมไปถึง  มาตรการเปิดทางต่างชาติศักยภาพสูง 4 กลุ่มให้สิทธิขอวีซ่าระยะยาว 10ปี (LTR Visa)ซึ่งประกอบด้วย

 

กลุ่มมั่งคั่ง กลุ่มเกษียณ กลุ่มต้องการทำงานในไทย และกลุ่มชำนาญการพิเศษ เข้าพำนักในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐบาล ล่าสุดมีตัวเลขยื่นขอ  LTR Visa ต่อสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)แล้ว กว่า600 ราย

 

 ทั้งยังให้สิทธิชาวต่างชาติถือครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่โดยออกตามความในมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2542 โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญคือต้องเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนฯ

 

ต้องนำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทและต้องคงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปีในธุรกิจนั้นส่วนมาตรการซื้อห้องชุดของชาวต่างชาติยังคงสัดส่วนไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายเนื่องจากต่างชาติไม่เคยซื้อเต็มโควต้าดังกล่าว

 

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และเลขานุการบริษัทธนาคารกรุงเทพ นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประเทศ การเงิน และตลาดทุน 

 

สะท้อนภาพอสังหาริมทรัพย์กับ กำลังซื้อต่างชาติ ตอนหนึ่งในงานสัมมนาโอกาสครบรอบ 50 ปี ของ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่28 กันยายนที่ผ่านมา ว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินพาณิชย์ของไทยไม่สามารถปล่อยกู้ให้กับคนต่างชาติได้เนื่องจากยังติดกฎข้อบังคับของแบงก์ชาติซึ่งตามข้อเท็จจริงสามารถทำได้  

  ต่อเรื่องนี้  นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน)ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทยเปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเห็นด้วยกับ ทางธนาคารกรุงเทพ

 

ที่มีข้อเสนอที่ดี  และเอกชนต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจต่อเนื่อง ดึงชาวต่างชาติ ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ให้เข้าถึงง่ายขึ้นกว่าเดิม โดยเปิดให้สถาบันการเงินของไทยปล่อยสินเชื่อ ให้กับต่างชาติเหมือนกับลูกค้าคนไทย ช่วยระบายสต็อกที่สะสมอยู่ ให้บางเบา 

 

โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมเนื่องจากที่ผ่านมาการซื้อคอนโดมิเนียมของต่างชาติ มักกำหนดให้ต้องวางเงินดาวน์ไม่ต่ำกว่า30% จากราคาขายและต้องจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดเมื่อครบกำหนดช่วงวันโอนกรรมสิทธิ์ หากธนาคารแห่งประเทศไทยยอมเปิดให้ แบงก์พาณิชย์ ปล่อยสินเชื่อให้กับกำลังซื้อกลุ่มนี้ได้ เพราะชาวต่างชาติบางกลุ่มที่เข้ามาทำงาน ,อยู่อาศัย ,มีคู่สมรสในไทยอาจไม่ใช่คนฐานะมั่งคั่งทุกราย

 

เชื่อว่าธุรกิจอสังหาฯจะคึกคักมากขึ้น  ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าเพราะกำลังซื้อคนไทย มีความเปราะบางสูงติดปัญหาหนี้ครัวเรือนสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ ซึ่งจะขายได้เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูงแต่คนกลุ่มนี้มีปริมาณจำกัด

 

 

“เหตุผลที่เอกชนต้องการให้รัฐปลดล็อคให้ต่างชาติกู้ซื้อบ้านในไทยได้ เนื่องจากเขามีกำลังซื้อที่ดี เป็นช่วงค่าเงินบาทอ่อนค่าซื้อได้มูลค่าที่สูง หากสามารถกู้ธนาคารได้เชื่อว่าธุรกิจอสังหาฯจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้และแบงก์เองก็มีรายได้  “

 

 

สำหรับการขยายมาตราการกระตุ้นอสังหาฯโดยให้ ต่างชาติซื้อบ้านจัดสรรในไทยได้ คงเป็นเรื่องอยากเพราะกระทรวงมหาดไทย ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าหากเปิดต่างชาติซื้อบ้านได้เกรงว่า คนไทยจะไม่มีที่อยู่อาศัย  ส่วนคอนโดมิเนียมสัดส่วนไม่เกิน49% นางอาภามองว่ามีความเหมาะสมแล้ว

 

 

ขณะแหล่งข่าวบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอสังหาฯระบุว่า มาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อต้องการต่างชาติให้ที่มีกำลังซื้อสูงเข้ามาซื้ออสังหาฯไทย อย่างแท้จริง หากเปิดให้กู้สถาบันการเงินแล้วเกรงว่า จะได้ไม่คุ้มเสีย เสี่ยงต่อการตามตัวหากหนีกลับประเทศหากเจอลูกค้าต่างชาติที่ไม่ดี 

 

ด้านนายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยบริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส  กล่าวว่า  ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้คนต่างชาติซื้อที่ดินในไทยได้ เพราะมองว่าขายชาติ เนื่องจากมีกำลังซื้อมากกว่าคนไทย และเห็นว่าควรยกเลิก  สะท้อนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 6/2565 เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้นิติบุคคลต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับเป็นที่ตั้งสำนักงานและที่พักอาศัย

โดยให้นิติบุคคลต่างด้าวผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับเป็นที่ตั้งสำนักงานและที่พักอาศัย โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาต

             

ประกอบด้วยที่ดินสำหรับเป็นที่ตั้งสำนักงานของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมให้ถือกรรมสิทธิ์ได้ไม่เกิน 5 ไร่ ,ที่ดินสำหรับเป็นที่พักอาศัยของผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการให้ถือกรรมสิทธิ์ได้ไม่เกิน 10 ไร่ ,ที่ดินสำหรับเป็นที่พักอาศัยของคนงานให้ถือกรรมสิทธิ์ได้ไม่เกิน 20 ไร่

 

ที่ดินสำหรับเป็นที่ตั้งสำนักงานและที่พักอาศัยจะอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ดินอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นพิเศษ สำนักงานจะพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป

 

โดยต้องจำหน่ายหรือโอนที่ดินภายใน 1 ปี เมื่อหมดสภาพการเป็นผู้ได้รับการส่งเสริม เป็นต้น ทั้งนี้ นายโสภณ ยืนยันว่า จะคัดค้านมาตรการนี้ต่อไป

จี้รัฐเปิดทางต่างชาติ กู้ซื้อที่อยู่อาศัยไทยกระตุ้นเศรษฐกิจ