ติดต่อกรมที่ดิน ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ตรวจสอบที่นี่

01 พ.ค. 2566 | 22:43 น.

ติดต่อกรมที่ดิน โอนที่ดิน ออกโฉนดที่ดิน จดทะเบียนสิทธิ รังวัด ทำแผนที่ ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ตรวจสอบที่นี่

สำนักงานที่ดิน กรมที่ดิน คือหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ในการดำเนินงานออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ราษฎร ,ให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ,รังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินสาธารณประโยชน์และในที่ราชพัสดุ ,การรังวัดและทำแผนที่
และ จัดที่ทำกินให้ประชาชนตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นภารกิจตามประมวลกฎหมายที่ดิน และยังมีภารกิจตามกฎหมายอื่น ได้แก่ การควบคุมการจัดสรรที่ดิน ,การจดทะเบียนอาคารชุด และการควบคุมช่างรังวัดเอกชน

สำนักงานที่ดิน กรมที่ดิน

 

การไปติดต่อกรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินเพื่อดำเนินนิติกรรมต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมเอกสารสำคัญ ให้ครบถ้วนถูกต้อง เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ซึ่งเอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องเตรียมไปด้วยทุกครั้ง มีดังนี้

เอกสารหลักฐานใช้ต้นฉบับ

  • โฉนดที่ดิน, น.ส. ๓, น.ส.๓ ก. น.ส. ๓ ข.. หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด, หลักฐานการเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง
  • หลักฐานการได้มาซึ่งที่ดิน เช่น คำพิพากษาหรือคำสั่งศาล และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (ในกรณีดำเนินการทางศาล) และมีเจ้าหน้าที่ศาลรับรองสำเนา

หลักฐานสำหรับบุคคลธรรมดา 

  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • ทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
  • หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุล (ถ้ามี)
  • ใบมรณบัตรของคู่สมรส (ถ้ามี)
  • ทะเบียนหย่า พร้อมบันทึกหลังทะเบียนการหย่า (ถ้ามี)
  • หนังสือแสดงความยินยอมของคู่สมรสให้ทำนิติกรรม (ถ้ามี) พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของคู่สมรส

หลักฐานสำหรับนิติบุคคล บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน 

  • รายงานการประชุมของนิติบุคคล พร้อมสำเนารับรองความถูกต้อง
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล

หลักฐานสำหรับนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เช่น สมาคม มูลนิธิ สหกรณ์ เป็นต้น

  • หนังสือรับรองนิติบุคคล
  • เอกสารการจัดตั้งนิติบุคคล
  • ข้อบังคับของนิติบุคคล
  • บัญชีรายชื่อสมาชิก
  • รายงานการประชุมของนิติบุคคล พร้อมสำเนารับรองความถูกต้อง
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล

กรณีมอบอำนาจ

  • หนังสือมอบอำนาจ (ต้นฉบับ)
  • บัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่ผู้มอบอำนาจรับรองความถูกต้อง
  • สำเนาทะเบียนบ้าน (ถ่ายเอกสาร) ที่ผู้มอบอำนาจรับรองความถูกต้อง
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (ต้นฉบับ)
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ (ต้นฉบับ)

ขั้นตอนการดำเนินการ ที่สำนักงานที่ดิน

ขั้นตอนที่ 1 ติดต่อ "เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์" ของสำนักงานที่ดินเพื่อ

  • ขอคำแนะนำ
  • ตรวจสอบหลักฐานเอกสารต่างๆ
  • รับบัตรคิวตามลำดับก่อนหลัง

ขั้นตอนที่ 2

  • ยื่นเอกสารหลักฐานสารต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่สอบสวนตามช่องที่ระบุไว้ในบัตรคิว
  • รับคำขอและสอบสวนคู่กรณีตามลำดับในบัตรคิว
  • ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน สารบบที่ดิน และหนังสือแสดงสิทธิ ในที่ดินหรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
  • ตรวจอายัด
  • ประเมินราคาทุนทรัพย์สำหรับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม
  • ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลง และแก้ทะเบียนในโฉนดที่ดิน
  • คู่กรณีลงนามในสัญญาหรือบันทึกข้อตกลง

ขั้นตอนที่ 3

  • คำนวณค่าธรรมเนียมภาษีอากรต่างๆ
  • ชำระค่าธรรมเนียมและภาษีอากรต่างๆ
  • เรียกคู่กรณีสอบสวนก่อนจดทะเบียน
  • ตรวจสอบเรื่องทั้งหมด
  • เจ้าพนักงานที่ดินลงนามจดทะเบียนในสัญญา หรือบันทึกข้อตกลง และลงนามในโฉนดที่ดิน
  • ประทับตรา
  • แจกโฉนดที่ดิน, น.ส. ๓, น.ส. ๓ ก., น.ส. ๓ ข., หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด และสัญญา
  • ผู้ขอตรวจสอบความถูกต้องในโฉนดที่ดิน, น.ส. ๓, น.ส.๓ ก. ,น.ส. ๓ ข. หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดและสัญญาว่าถูกต้องหรือไม่ เช่น ชื่อตัว - ชื่อสกุล อายุ ชื่อบิดา มารดา ที่อยู่ ก่อนกลับ ฯลฯ

ทั้งนี้ในกรณีต้องชำระเงิน และชำระเงินเป็นแคชเชียร์เช็ค หากชำระเงินเป็นแคชเชียร์เช็ค ในกรุงเทพมหานคร ให้สั่งจ่ายกระทรวงการคลัง ในจังหวัดอื่นให้สั่งจ่ายกระทรวงการคลัง ผ่านสำนักงานคลัง และนำส่งเช็คให้เจ้าหน้าที่การเงินตรวจสอบก่อน

ที่มา กรมที่ดิน