ข้อพิพาทคดีที่ดินเขากระโดง 5,083ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตำบลอิสาณ จังหวัดบุรีรัมย์ ถูกปิดฉากลง หลังกรมที่ดินไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสุงสุดและยอมรับคำ พิพากษาวันที่ 30 มีนาคม 2566 ในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ระหว่าง รฟท. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1และอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คดี ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ออกเอกสารสิทธิทับซ้อนที่ดินเขากระโดง
โดยได้รับการยืนยันจาก นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รายงานต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม.2566 ว่า รองอธิบดี ที่ได้รับมอบหมาย ให้พิจารณาคดีดังกล่าวมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อตรวจสอบหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินเขากระโดง ของรฟท. ตามคำสั่งศาลปกครองกลางแล้ว เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม2566 ที่ผ่านมา
กล่าวคือ ในครั้งนั้นศาลปกครองกลางพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อน ที่ดินเขากระโดง ซึ่งพบหลักฐานเป็นที่ดินของรฟท. บริเวณทางแยกเขากระโดง ตั้งแต่ กิโลเมตรที่ 4 ถึงกิโลเมตรที่8 ถนนบุรีรัมย์-ประโคนชัย
ถนนสายสำคัญที่กรมทางหลวงทำหนังสือขอใช้ที่ดินกับการรถไฟฯเพื่อเวนคืนก่อสร้างถนน เส้นทางดังกล่าว และแนวเขตเวนคืนเพื่อจะก่อสร้างทางรถไฟโดยตรวจสอบพบหลักฐานหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จำนวน 772 ฉบับ แยกเป็นโฉนด 396 ฉบับ หนังสือแสดงการทำประโยชน์ หรือ น.ส.3 จำนวน 376 ฉบับ
รายงานข่าวจากรฟท.คาดการณ์ว่าอาจจะมีจำนวนแปลงที่ดินอยู่ในข่ายบุกรุกและครอบครองหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เขากระโดงมากกว่าที่พบ เช่นเดียวกับกรมที่ดินที่เคยยอมรับว่า น่าจะมีผลได้รับผลกระทบมากกว่า1,000แปลง ที่คาดว่าออกเอกสารสิทธิคาดเคลื่อนและอาจนำไปสู่การฟ้องร้องกรมที่ดิน
โดยรฟท.และกรมที่ดินจะลงพื้นที่ตรวจสอบและชี้แนวเขตร่วมกัน ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ตั้งคณะกรรมการฯตามมาตรา61 หรือวันที่12พฤษภาคม 2566 ตามคำสั่งศาลปกครองกลาง เพื่อนำหลักฐานที่ได้มาประกอบการพิจารณาในคณะกรรมการตรวจสอบตามมาตรา61 เพิกถอนต่อไป
ที่ดินเขากระโดงของรฟท.แบ่งเป็น3กลุ่มได้แก่ กลุ่ม ที่ดิน 35 แปลง ซึ่งเป็น ส.ค.1 กรมที่ดินเพิกถอนคืนรฟท.แล้ว ตามคำพิพากษาศาล ปี 2561 ตั้งอยู่บริเวณปลายกิโลเมตรที่ 8 ทางรถไฟแยก บุรีรัมย์เข้าเขากระโดง โดยปี 2563 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาที่ดินแปลงเล็กเป็นน.ส.3 ซึ่งชาวบ้านครอบครอง
ตั้งอยู่ช่วงกลางแผนที่ หรือติดริมถนนประโคนชัย บุรีรัมย์ ปัจจุบัน กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอน ส่วนอีกกลุ่ม 5,083 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าว ในจำนวนนี้จะรวมถึงที่ดิน 12 แปลง ของคนในตระกูลชิดชอบ เนื้อที่รวม 179 ไร่ 1 งาน 43.3 ตารางวา ข้อมูลใหม่ที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติเคยตรวจสอบพบด้ว
ย้อนมหากาพย์ ที่ดินเขากระโดง จนถึง คำสั่งศาลปกครองกลาง วันที่30มีนาคม 2566 เริ่มจาก ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง 8 พฤศจิกายน 2462 ได้ ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ให้กรมรถไฟหลวง ตรวจและวางแนวทางรถไฟ ตั้งแต่นครราชสีมา (ข้ามลำน้ำมูล ต.ท่าช้างอ.พิมาย) ไปยังบุรีรัมย์จนถึงอุบลราชธานี (อ.วารินชำราบ) ให้เสร็จภายใน 2 ปี
โดยห้ามเจ้าของที่ดินที่ครอบครองที่ในเขตรถไฟก่อน 8 พฤศจิกายน 2462 ยกให้หรือซื้อขาย และเปลี่ยนกับผู้ใดผู้หนึ่ง ห้ามสร้างบ้าน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาตซึ่งรฟท. มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ เขากระโดง และบ้านตะโก ทำทางรถไฟเพื่อเข้าแหล่งระเบิดและย่อยหิน ระยะทาง 8 กิโลเมตร โดย 4 กิโลเมตร แรก มีเจ้าของที่ดิน 18 ราย อีก 4 กิโลเมตร จนถึงแหล่งหินไม่มีเจ้าของ
กระทั้งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2513 มีการพบข้อพิพาทระหว่าง นายชัย ชิดชอบ และราษฎร บุกรุกที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง ผลการเจรจา นายชัยยอมรับว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ขอ รฟท. และทำหนังสือขออาศัย รฟท ยินยอมต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2515 ได้มีการนำที่ดินดังกล่าวไปออกโฉนดเลขที่ 3466 และขายให้ “ละออง ชิดชอบ” เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2535 ก่อนจะมีการนำไปขายต่อให้ บ.ศิลาชัย บุรีรัมย์และในเวลาต่อมา พรรคประชาชาติ ตรวจสอบพบการครอบครองที่ดินเขากระโดงเพิ่มอีก 12 แปลงและนำมาตีแผ่ต่อสาธารณะดังกล่าว