ผังกทม.ปรับใหญ่ รับ ส่วนต่อขยายสีเขียว ดันราคาที่ดิน บางหว้า-ตลิ่งชัน พุ่ง

26 ม.ค. 2567 | 05:41 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2567 | 05:54 น.

ที่ดินย่านฝั่งธนฯ ได้อานิงสงส์ สองเด้ง ปรับผังเมืองรวมกทม. -สร้างส่วนต่อขยายสายสีเขียว บางหว้า-ตลิ่งชัน ดันที่ดินพุ่ง สร้างคอนโดฯได้

 

แผนขยายโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชันระยะทาง 7.5 กิโลเมตร วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ตามนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) จิ๊กซอว์ตัวสำคัญช่วยเติมเต็มการดินทางให้สมบูรณ์ขึ้นขณะเดียวกันผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่4) เปลี่ยน แปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินรองรับ รถไฟฟ้าเส้นนี้ ไว้ล่วงหน้าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเนื่องจากอยู่ในแผนของกรุงเทพมหานครที่จะขยายเส้นทาง

ประเมินว่าเจ้าของที่ดินจะได้อานิสงส์สองเด้งทั้งรถไฟฟ้าพาดผ่านและการปรับใหญ่ของผังเมืองรวม จุดประกายทำเลทองใหม่ จากเดิม ผังเมืองรวมปี2556 กำหนด เป็นพื้นที่สีเขียวลาย (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) มีข้อจำกัดพัฒนาเฉพาะบ้านจัดสรร ขนาด 100 ตารางวาขึ้นไป แต่ผังมืองรวม (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ปรับเป็นพื้นที่สีส้ม (ที่ดินประเภทหนาแน่นปานกลาง) พัฒนาคอนโดมิเนียม ได้ ย่อมมีผลต่อราคาที่ดิน

นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์และประเมินราคาที่ดิน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่4) เพิ่มการใช้ประโยชน์ ที่ดินในหลายทำเล ส่งผลให้เกิดทำเลทองใหม่ที่น่าจับตา พื้นที่ที่ถัดจากสถานี บางหว้าออกไป  จนถึงตลิ่งชัน   หรือ ตั้งแต่ จรัญสนิทวงศ์13 จนเกือบถึงถนนพรานนกผังเมืองรวม (ปรับปรุงครั้งที่4 ) ได้ปรับการใช้ประโยชน์ ที่ดิน จากพื้นที่เขียวลาย เป็นพื้นที่สีส้ม  

หากประกาศใช้ปี 2568 ตลาดอสังหาฯ กลับมาคึกคัก ราคาที่ดินจะขยับไปที่5-6 แสนบาทต่อตารางวา จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อตารางวา ส่วน ราคาที่ดิน บางหว้า  สถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีการพัฒนาเต็มพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว ราคาที่ดินอยู่ที่ประมาณ 6-7แสนบาทต่อตารางวา ปัจจุบันผังเมืองกำหนดเป็นพื้นที่สีส้ม ตั้งแต่ ย.5-ย9 พัฒนาคอนโดมิเนียมได้ ซึ่งผังเมืองรวมใหญ่เพิ่มเป็นพื้นที่สีนํ้าตาล(ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) บางบริเวณ

สำหรับแนวเส้นทาง ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บางหว้า- ตลิ่งชัน) มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสายสีลม ตากสิน-เพชรเกษม ที่สถานีบางหว้าจากนั้นไปตามแนวเกาะกลางถนนราชพฤกษ์ ผ่านทางแยกตัดถนนบางแวก (ซอยจรัญฯ 13) แยกตัดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 

จากนั้นยกข้ามทางแยกถนนบรมราชชนนี ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกที่อยู่ในแนวรถไฟสายใต้มาสิ้นสุดบริเวณทางลาดลงของสะพานข้ามรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้มสายบางขุนนนท์-มีนบุรี ที่สถานีตลิ่งชัน

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (PropertyDNA) บริษัทวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์วิเคราะห์ว่าเส้นทางรถไฟฟ้าหากมีการต่อขยายหรือเชื่อมต่อกันจะเป็นระบบหรือโครงข่ายที่สมบูรณ์มากขึ้น อย่าง เส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (บางหว้า-ตลิ่งชัน) เป็นหนึ่งในเส้นทางที่น่าสนใจ ซึ่งมีโครงการและได้รับการพูดถึงมานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีความชัดเจนมากเท่าไหร่ กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานใดๆ ไม่ได้มีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

 ล่าสุด ทางกรุงเทพมหานครออกมาแสดงความชัดเจนแล้วว่า การประชุมสภากรุงเทพมหานคร วันที่ 17 มกราคม2567 มีการเสนอขออนุมัติจัดใช้งบประมาณประจำปี 2568 เพื่อดำเนินการศึกษาพัฒนารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (บางหว้า-ตลิ่งชัน)โดยแนวเส้นทางจะเป็นทางยกระดับอยู่บริเวณเกาะกลางของถนนราชพฤกษ์ ต่อขยายจากสถานีบางหว้าไปจนถึงสถานีรถไฟฟ้าตลิ่งชันของสายสีแดง ระยะทางประมาณ 7.5 กิโลเมตร มูลค่าในการลงทุนประมาณ 14,000 ล้านบาท

  เส้นทางนี้ทางกรุงเทพมหานครจะดำเนินการเอง เพราะเป็นส่วนต่อขยายจากเส้นทางที่มีอยู่แล้ว และจะมีการศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการลงทุนในลักษณะเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ซึ่งได้แต่หวังว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ และค่าโดยสารไม่แพง เพราะคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องให้คนมารับหรือใช้บริการแท็กซี่ไปบ้านที่อยู่ตามแนวถนนราชพฤกษ์ หรือไกลกว่านั้น

ปรับใหญ่ผังเมืองกทม.(ปรับปรุงครั้งที่4)  รับส่วนต่อขยายสายสีเขียว (บางหว้า-ตลิ่งชัน)