น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ชะลอการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารที่มีขนาดใหญ่พิเศษออกไปก่อน เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายมีความรอบคอบ และการอนุญาตก่อสร้างไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน
ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารที่มีขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
โดยบางส่วนจะมีแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่ออนุญาตให้ก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในที่ดินซึ่งมีที่ตั้งไม่ติดกับทางสาธารณะ หรือ ที่ดินตาบอด แต่มีที่ดินอื่นที่สามารถใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารสูงจนนำไปสู่การฟ้องร้องในศาลและศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการอนุญาตก่อสร้างในหลายกรณี ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการออกกฎหมาย เปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริง สถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งแนวคำพิพากษาของศาลที่ได้วินิจฉัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาอย่างรอบด้าน
กระทรวงมหาดไทยจึงได้ชะลอการแก้ไขกฎหมายในกรณีนี้ออกไปก่อน และให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายแต่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยในด้านต่างๆ ต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมโยธาธิการฯ ได้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับอนุญาตก่อสร้างอาคารต่างๆ โดยต่อเนื่องอยู่แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกลับสภาพการณ์ปัจจุบันและเอื้อต่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และขณะนี้ก็ได้มีการยกร่างกฎกระทรวงซึ่งจะมีการเพิ่มเติมเกณฑ์ที่อนุญาตก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในที่ดินซึ่งมีที่ตั้งไม่ติดทางสาธารณะได้หากดำเนินการเป็นไปตามข้อกำหนด
ตัวอย่างเช่น มีที่ดินอื่นที่มีความกว้างอย่างน้อย 12 เมตรใช้เป็นทางเข้า-ออกได้ รถดับเพลิงสามารถวิ่งได้สะดวก แม้จะเล็งเห็นได้ว่าการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวจะสอดคล้องกับความเป็นเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพฯและปริมณฑล เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวม
แต่เพื่อให้ข้อกฎหมายมีความรอบคอบ การอนุญาตก่อสร้างไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กระทรวงมหาดไทยจึงได้ชะลอการปรับปรุงกฎหมายในเรื่องนี้ออกไปก่อน