ดัชนีความเชื่อมั่นซื้อที่อยู่อาศัยต่ำ  กังวลเสี่ยงถูกปฏิเสธสินเชื่อ

02 มี.ค. 2567 | 02:26 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2567 | 02:34 น.

ดัชนีความเชื่อมั่นซื้อที่อยู่อาศัยต่ำ  กังวลเสี่ยงถูกปฏิเสธสินเชื่อ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัจจัยลบต่าง ๆ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงอยู่ในระดับ2.50% -ไม่มีนโยบายผ่อนปรนมาตรการ LTV -หนี้สินครัวเรือนที่สูงเกินกว่า 90% ของ GDP

 

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มาอย่างต่อเนื่องและพบว่านับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ในช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยโดยเฉพาะในส่วนของความต้องการที่อยู่อาศัย ต้องเผชิญกับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจหลายประการ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในประเทศไทย

จึงได้เห็นถึงความสำคัญในการจัดทำ “ดัชนีความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล” เพื่อใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับติดตามสถานการณ์ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน เมื่อกำหนดค่ากลางของดัชนีเท่ากับ 50.0 จุด  ซึ่งผลการศึกษา “ดัชนีความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล” ในภาพรวมของไตรมาส 4 ปี 2566 เปรียบเทียบค่าดัชนีความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัยฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 41.2

สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีความเชื่อมั่นในระดับเกณฑ์ต่ำ ต่อมาในไตรมาส 4 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 44.5 ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) ที่มีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 41.2 และเป็นระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0

 ที่ นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ออกมายืนยันว่า การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เป็นดัชนีเชิงปริมาณ ในรูปแบบของดัชนีการกระจาย โดยใช้แบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นจากช่องทางประชาสัมพันธ์ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มาคำนวณดัชนี

วิชัย วิรัตกพันธ์

ซึ่งมีข้อคำถามเกี่ยวกับแผนในการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ และ ระยะเวลาที่วางแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 2566 เท่ากับระดับ 44.5 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงมีความเชื่อมั่นในระดับน้อยหรือเกณฑ์ระดับต่ำ

 “ความเชื่อมั่นที่ลดลงอาจจะเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัจจัยลบต่าง ๆ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงอยู่ในระดับ2.50% ที่สูงต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 และอาจจะมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในอัตราระดับนี้ในอีกระยะหนึ่ง อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่มีนโยบายที่จะผ่อนปรนมาตรการ LTV นอกจากนี้ การที่มีภาพรวมภาวะหนี้สินครัวเรือนที่สูงเกินกว่า 90% ของ GDP สะท้อนความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงเวลานี้ โดยเกิดความกังวลต่อการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่อาจเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธสินเชื่อ”

นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ ยังได้ศึกษาถึงกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจในมิติต่างๆ ดังนี้ ลักษณะทางประชาการศาสตร์ของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 53.1% และส่วนใหญ่มีอายุอยู่ระหว่าง 25-34 ปี หรือเป็นคนกลุ่ม Gen Y และ Gen Z มากที่สุด

46.1% ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีระดับการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่าคิดเป็น  73.6% ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ 59.7% มีอาชีพเป็นพนักงานเอกชน และส่วนใหญ่ 34.6% มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ในช่วง 15,001-30,000 บาท ทั้งนี้ลักษณะทางประชากรศาสตร์ในภาพรวมมีความใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งด้าน เพศ ช่วงอายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนด้านวัตถุประสงค์ในการซื้อที่อยู่ใหม่ พบว่า ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ 35.8% ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีความต้องการ28.1% รองลงมาคือซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สิน 15.2% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 17.8% โดยทั้งสองวัตถุประสงค์มีสัดส่วนรวมกัน 51.0%

แสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ซื้อต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงในชีวิต และหากเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเลือกพิจารณามากขึ้น คือ ต้องการความสะดวกในการเดินทาง และต้องการซื้อเพื่อลงทุน/เก็งกำไร/ให้เช่า โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 11.0% เป็น 12.6% และจาก 10.3% เป็น 12.4% ตามลำดับ