ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ตลาดที่อยู่อาศัยใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้น โดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานว่าดัชนีราคาบ้านจัดสรรและห้องชุดใหม่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้าง และค่าแรงงาน
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ในภาพรวมมีค่าดัชนีเท่ากับ 131.6 เพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 ถึงไตรมาส 2 ปี 2567
เมื่อพิจารณาตามพื้นที่ พบว่าราคาบ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 1.1% (YoY) และ 0.8% (QoQ) ส่วนใน 3 จังหวัดปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ) เพิ่มขึ้น 1.3% (YoY) แต่ลดลง 1.4% (QoQ) ด้านราคาห้องชุดในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 0.2% (YoY) และ 0.7% (QoQ) ขณะที่ใน 2 จังหวัดปริมณฑล (สมุทรปราการ นนทบุรี) เพิ่มขึ้น 4.8% (YoY) และ 3.3% (QoQ)
และเมื่อพิจารณาแยกตามประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวมีค่าเท่ากับ 131.7 เพิ่มขึ้น 2.0% (YoY) แต่ลดลง 0.2% (QoQ) โดยบ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 126.9 เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และพื้นที่ 3 จังหวัดปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) มีค่าดัชนีเท่ากับ 133.9 เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)
ส่วนดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์มีค่าเท่ากับ 131.6 เพิ่มขึ้น 1.3% (YoY) และเพิ่มขึ้น 0.2% (QoQ) โดยดัชนีราคาทาวเฮ้าส์ในกรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 130.9 เพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เป็นการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2567 หลังจากลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ไตรมาสในช่วงไตรมาส 2/2566 ถึง ไตรมาส 4/2566
สำหรับดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย มีค่าดัชนีเท่ากับ 156.9 เพิ่มขึ้น 1.2% ทั้งช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้น YoY ต่อเนื่องติดต่อกันมา 6 ไตรมาส โดยดัชนีราคาห้องชุดในกรุงเทพฯ ค่าดัชนีเท่ากับ 158.8 เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) โดยดัชนีราคาห้องชุดของกรุงเทพฯ เป็นทิศทางทรงตัวค่อนไปทางขาขึ้น (Sideway-up) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และในพื้นที่ 2 จังหวัดปริมณฑล (สมุทรปราการ และ นนทบุรี) มีค่าดัชนีเท่ากับ 147.9 เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นมาจากต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ทั้งราคาที่ดิน ค่าวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงงาน ส่งผลให้โครงการที่เปิดตัวใหม่ในปี 2565-2566 มีราคาเสนอขายสูงขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขาย และระบายสต๊อก โดยบ้านจัดสรรส่วนใหญ่เน้นการให้ของแถมมากที่สุดถึง 42.3% รองลงมาเป็นการช่วยค่าใช้จ่าย ณ วันโอน 41.0% ส่วนห้องชุดเน้นการให้ของแถม 45.9% และให้ส่วนลดเงินสด 30.8%
อย่างไรก็ตาม REIC ยังคาดว่า ราคาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ปริมณฑลมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าในกรุงเทพฯ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินในพื้นที่ปริมณฑลที่ปรับตัวสูงขึ้น REIC คาดว่าแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยใหม่จะยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะห้องชุดใหม่ เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างและราคาที่ดินยังมีทิศทางสูงขึ้น ขณะที่ห้องชุดเก่าในตลาดถูกดูดซับไปพอสมควร ส่วนราคาบ้านจัดสรรคาดว่าจะปรับตัวขึ้นในอัตราที่ช้ากว่า เนื่องจากยังมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูงและมีการใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง