ดัชนีความเชื่อมั่นซื้อที่อยู่อาศัยไตรมาส 2 ยังอยู่ในระดับต่ำ

21 ส.ค. 2567 | 10:04 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2567 | 10:04 น.

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯแผย ดัชนีความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2567 ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ทั้งลดค่าโฮน จดจำนองเหลือ 0.01%

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล  ในไตรมาส 2 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 39.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 (QoQ) ที่มีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 39.2 โดยเป็นระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC)

สะท้อนว่า ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงมีความเชื่อมั่นในระดับเกณฑ์ต่ำ แม้ว่าช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับคนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในวันโอนกรรมสิทธิ์

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธอส.คือ

  • โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home วงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท
  • โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life วงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับบ้านราคาตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป

"เพื่อช่วยให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ช่วยกระตุ้นให้ตลาดที่อยู่อาศัยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตลาดที่อยู่อาศัยยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบหลายด้าน เช่น

  1. การยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย
  2. ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีอัตราส่วนที่สูงกว่า 90๔ ของ GDP ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สถาบันการเงินต้องเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ทำให้พบการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง
  3. ภาวะดอกเบี้ยนโยบายยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 2.50% ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยให้ลดลงโดยตรง
  4. การที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า

ดัชนีความเชื่อมั่นซื้อที่อยู่อาศัยไตรมาส 2 ยังอยู่ในระดับต่ำ

“ปัจจัยลบเหล่านี้ได้ส่งผลให้รายได้ของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีอัตราการขยายตัวน้อยกว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถในการซื้อและการผ่อนชำระลดลง ซึ่งได้กระทบต่อยอดขายที่อยู่อาศัยโดยตรง”