ไฮสปีด – หนี้รถไฟ2.3แสนล้าน เผือกร้อนในมือ“วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่ารฟท.คนใหม่

18 ก.ย. 2567 | 22:53 น.

ไฮสปีด3สนามบิน –รถไฟไทย-จีน - หนี้2.3แสนล้าน เผือกร้อนในมือ“วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการการรถไฟคนใหม่ลูกหม้อ สุริยะ หลังลงนามสัญญาจ้าง 19 ก.ย. เริ่มงานทันที 1ต.ค. 67

 

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เปิดหวูด ลงทุนโครงการต้องเนื่อง มีโปรเจ็กต์ร้อนหลายรายการที่ต้องเร่งเดินหน้า และมีหลายโครงการสำคัญที่ยังติดค้าง

วีริศ อัมระปาล

ที่ นาย วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)คนใหม่ ต้องสะสางให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดเวลาต่อจากผู้ว่ารฟท.คนเก่า

เริ่มจากโครงการอภิโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)เชื่อม3สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24แสนล้านบาท

ฐานะคู่สัญญา บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด  เครือซีพี  ที่ต้องลงมือก่อสร้างภายในต้นปี 2568 ตามแผนที่ นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซีกำหนดไว้  ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ทดสอบระบบประมาณ 1 ปี เปิดให้บริการปี 2572  

 

 


 

ส่วนเรื่องการเจรจาแก้ไขสัญญาตกลงในหลักการได้หมดแล้ว มีความชัดเจนเรื่องหนังสือค้ำประกันเพิ่มเติม รายละเอียดการแบ่งจ่าย หลักๆ จะเป็นการจ่ายตามงวดงานที่แล้วเสร็จและมีการตรวจรับงานที่สำคัญคือ จะโอนทรัพย์สินแต่ละงวดงานที่เสร็จเป็นของรัฐทันที โดยเอกชนยังคงดูแล บำรุงรักษาและบริหารตามระยะเวลาสัญญา 50 ปี

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การแก้ไขสัญญาไฮสปีดจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในสมัยรัฐบาลแพทองธารซึ่งมีการแต่งตั้งประธานกพอ.คนใหม่ แทน  นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งเดิมจะต้องนำเข้าบอร์ดภายในเดือนสิงหาคม แต่คาดว่าต้องเป็นช่วงปีงบประมาณ2568 หรือ เดือนตุลาคมหลังจากผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่เริ่มงาน

โดยเงื่อนไขใหม่ของการแก้ไขสัญญาสัมปทานของโครงการ เอกชนจะวางแบงก์การันตีเพิ่มรวมกว่า 1.7 แสนล้านบาท  เพื่อลดผลกระทบจากการกู้สินเชื่อที่ได้รับผลพวงมาจากสถานการณ์โควิด

ประกอบด้วยหนังสือค้ำประกันค่าก่อสร้างวงเงินประมาณ 120,000 ล้านบาท (แบ่งเป็นหนังสือค้ำประกัน 5 ใบ ใบละ 24,000 ล้านบาท) บวกกับหนังสือค้ำประกันค่างานระบบเพิ่มอีก 16,000 ล้านบาท และหากกรณีจ่ายอุดหนุนค่างานโยธา วงเงินประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เร็วขึ้น

ประหยัดค่าดอกเบี้ยลงด้วย ซึ่งระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี เฉลี่ยรัฐจ่ายคืนปีละ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน ผู้ว่ารฟท.คนใหม่อาจเข้ามารับช่วงการผลักดันการแก้ไขสัญญาระหว่างรฟท.กับเอกชนให้ลุล่วง ก่อนเข้าครม.แพทองธาร รวมถึงแก้ไขสัญญาพื้นที่ทับซ้อนรถไฟไทย-จีนสัญญา4-1 บางซื่อดอนเมืองและสัญญาแอร์พอร์ตลิงก์

ที่สาหัส คือโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน 14สัญญา มูลค่า179,412.21 ล้านบาท ปัจจุบันล่าช้า   กว่าแผน  36.39% (ณ วันที่ 25 ก.ค.67)  หรือ คืบหน้าอยู่ที่ 71.36% ผลงาน 34.97% ตามแผนใหม่จะเปิดให้บริการในปี 2571  

จากเดิม จะเปิดให้บริการปี2570 ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ปี2560  ที่ผ่านมาติดอุปสรรคค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผลกระทบแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาต้องส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม(HIA) ต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)เมื่อวันที่9สิงหาคม2567

อีกปัญหาใหญ่อุบัติเหตุดินถล่มภายในอุโมงค์ช่วงคลองขนานจิต ขณะกำลังขุดเจาะ เมื่อไม่นานมานี้ทำคนงาน  ติดด้านในและเสียชีวิต สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนว่าจะเกิดความมั่นคงแข็งแรงหรือไม่แต่ตามหลักวิศวกรแล้วมีความมั่นคงแข็งแรงแน่นอน

หนึ่งในระบบรางเชื่อมโยงภูมิภาคและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง  ด้านขนส่ง การค้า การท่องเที่ยว เชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน  และเร่งโครงการไฮสปีดไทย-จีนเฟส2 ช่วงนครราชสีมา- หนองคายระยะทาง 357.12กม.กรอบวงเงิน 3.4แสนล้านบาท

ที่จะเปิดประมูลต้นปี68 และไม่ให้ซ้ำรอยความล่าช้าเหมือนเฟสแรก ที่มีปัญหารอบด้าน อาทิจากผู้รบเหมาฟันงานเพื่อให้ได้งานรถไฟสายประวัติศาสตร์ เมื่อเกิดวิกฤตโควิดและ สงคราม ยูเครนทำให้ เกิดผลกระทบตามมา  

ขณะหนี้สะสมของรฟท.ที่มีมากถึง 2.3แสนล้านบาท อีกปัญหาใหญ่ที่ผู้ว่ารฟท.คนใหม่ต้องเร่งหาทางออก โดยก่อนหน้า รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ มีนโยบายให้เร่งนำที่ดินการรถไฟฯ 4หมื่นไร่ออกพัฒนาเพื่อนำไปล้างหนี้

โดยตั้งบริษัทลูกขึ้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวมทั้งปรับขึ้นค่าเช่าพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาที่ดินแปลงใหญ่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวยังไม่มีเอกชนเช่าพื้นที่

ที่ผ่านมานายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  สมัยที่กำกับดูแลรฟท.เคยให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงมีแผนเดินหน้าฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีการกำหนดแผนวิสาหกิจการปี 2566 – 2570

ปัจจุบันพบว่ารฟท.มีหนี้สะสม จำนวน 2.3 แสนล้านบาท เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการวิ่งให้บริการรถไฟเชิงสังคม (PSO) และไม่เคยมีการปรับขึ้นค่าโดยสาร 34 ปี 

 รฟท.เป็นองค์กรใหญ่ ซึ่งในอนาคตจะมีการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่และโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดไทย-จีน) ทำให้มีเม็ดเงินมหาศาล แต่ปัจจุบันพบว่ารฟท.กลายเป็นองค์กรที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว นายสุรพงษ์ กล่าว

 ตามพ.ร.บ.การรถไฟฯ ระบุว่า หากมีการขาดทุนภาครัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุน PSO ให้แก่รฟท. แต่ตามข้อเท็จจริงพบว่า ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุน PSO ไม่ครบตามที่กำหนด จากการบันทึกบัญชีของรฟท.มีการระบุในการขอเงินอุดหนุนเชิงสังคมจากภาครัฐ (PSO) จำนวน 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี แต่ได้รับงบประมาณอุดหนุนเพียง 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้รฟท.มีหนี้สะสมต่อเนื่อง 

นี่คือเผือกร้อน สำหรับผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่หลังลงนามสัญญาจ้าง19ก.ย.