เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (FED : เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.5% : ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยที่สูงมาก
เพราะก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่าจะปรับลดแค่ 0.25% เท่านั้น เหมือนที่ธนาคารของหลายๆ ประเทศ เช่น สหภาพยุโรป สิงคโปร์ แคนาดา อังกฤษ นิวซีแลนด์ เป็นต้น ซึ่งลดดอกเบี้ยอ้างอิงหรือดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา
แต่เมื่อปรับลดลงมากถึง 0.5% ก็ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังหลายๆ ภาคส่วน และหลายธุรกิจเช่นกัน เพียงแต่การลดดอกเบี้ยของสหรัฐ อเมริกาครั้งนี้อยู่ในการคาดการณ์ของนักธุรกิจ และตลาดอยู่แล้วแรงกระเพื่อม
จึงอาจจะไม่มากนัก เพราะตลาดปรับตัวรอรับอยู่แล้ว สังเกตได้จากค่าเงินของภูมิภาคต่างๆ ที่แข็งค่าขึ้น รวมไปถึงค่าเงินบาทไทยด้วยที่แข็งค่ามากขึ้น แต่ที่น่าสนใจ และต้องจับตามองต่อเนื่อง
คือ มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.5% ภายในปีนี้ และปีพ.ศ.2568 อีก 1% จากนั้นในปีพ.ศ.2569 ลดอีก 0.5% โดยอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 2.75% - 3% ในปีพ.ศ.2569
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ อาจจะมากกว่าที่หลายคนคาดการณ์มาก่อนหน้านี้ แต่ผลกระทบในวงกว้างอาจจะมีไม่มากนัก
เพราะจะจำกัดอยู่ในส่วนของตลาดหุ้นที่ผันผวนขึ้นลงแบบรวดเร็วภายในวันเดียวหลังจากที่ประกาศการลดดอกเบี้ยอ้างอิง และทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นจนราคาขายทองคำปรับขึ้นจนเป็นสถิติ All Time High อีกครั้ง
ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในระยะยาวอาจจะยังไม่แน่ชัด เพราะต้องดูเรื่องของการลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องของสหรัฐ และการปรับลดดอกเบี้ยในประเทศไทยด้วย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่มีท่าทีว่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลง
แต่ก็คงต้องรอดูการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือนตุลาคมอีกครั้งว่ายังไง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันชัดเจนว่าการจะลดหรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะพิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก
แม้ว่าที่ผ่านมา การลดหรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยจะเกิดขึ้นตามหลังจากที่สหรัฐอเมริกาลดหรือขึ้นดอกเบี้ย อาจจะล่าช้าหรือไม่ได้ปรับทันทีตามสหรัฐอเมริกา
ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พยายามกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยลง เพื่อที่จะได้สร้างแรงกดดันที่ลดลงต่อการขอสินเชื่อธนาคารสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัย
เพราะปัจจุบันปัญหาเรื่องของการขอสินเชื่อธนาคารแล้วโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินปฏิเสธนั้นสูงมาก และมีผลต่อเนื่องไปถึงรายได้และงบการเงินของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
โดยพวกเขาคาดหวังว่าเมื่อดอกเบี้ยนโยบายลดลงจะมีผลต่อเนื่องไปยังดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่จะปรับลดลงตาม และสอดคล้องกับมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองที่จะหมดอายุสิ้นปีพ.ศ.2567
จากนั้น จะคลายความกดดันต่อการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยของคนที่ต้องการสินเชื่อเพื่อนำมาซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางของหลายประเทศรวมไปถึงสหรัฐ อเมริกา
เหมือนเป็นการส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น กระทรวงการคลังก็ออกมาส่งสัญญาณให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาเรื่องของการลดดอกเบี้ยนโยบายด้วยเช่นกัน
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงยืนยันว่า การลดหรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศ จริงอยู่ที่ปัจจุบันหลายประเทศลดดอกเบี้ยอ้างอิงหรือดอกเบี้ยนโยบายลงไปแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ลด
และการพิจารณาว่าจะลดดอกเบี้ยนั้นไม่ได้อยู่ที่การลดตามประเทศอื่นเพียงอย่างเดียวแต่ต้องคอยรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท และการเข้า-ออกของเงินทุนต่างประเทศด้วย อีกทั้งปัจจัยภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง
เช่น การลดดอกเบี้ยอาจจะทำให้ภาระของหนี้สินที่มีอยู่เดิมลดลงก็จริง แต่ในขณะเดียวกันการขอสินเชื่อใหม่ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจจะมีผลให้หนี้ครัวเรือนไม่ได้ลดลงแต่อาจจะเพิ่มขึ้นในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่อยู่ในสถานะที่ดี
แต่ในอนาคตหรือการประชุมของกนง. ครั้งต่อไปหลังจากเดือนตุลาคม อาจจะพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย เพราะอาจจะรอดูผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ก่อนเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน ตลาดที่อยู่อาศัยอาจจะยังไม่สามารถอาศัยปัจจัยเรื่องนี้ในการขยายตัวหรือสร้างรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ได้มากแบบที่คาดหวังกัน
หน้า20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,030 วันที่ 26 - 28 กันยายน พ.ศ. 2567