คลอดประกาศ สคบ.คุมสัญญาจองซื้อคอนโด หัวหมอเจอโทษหนักติดคุก

03 ต.ค. 2567 | 12:35 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2567 | 12:47 น.

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สคบ. ให้ธุรกิจการขายห้องชุดที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ช่วยผู้บริโภคจองซื้อคอนโดมิเนียม หากธุรกิจทำผิดมีโทษหนักถึงติดคุก

วันนี้ (3 ตุลาคม 2567) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายห้องชุดที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2567 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมสัญญาการจองซื้อคอนโดมิเนียม ต้องเป็นไปตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนจะมีความผิดทั้งโทษปรับ และจำคุก

สำหรับรายละเอียดของร่างประกาศควบคุมสัญญาการจองซื้อคอนโดมิเนียม กำหนดให้ธุรกิจการขายห้องชุดที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมกำหนดคำนิยาม ดังนี้

“ธุรกิจการขายห้องชุดที่มีการจอง” หมายความว่า การประกอบธุรกิจที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญาจอง ซื้อห้องชุดในอาคารชุดกับผู้ประกอบธุรกิจ โดยผู้บริโภคจ่ายเงินจองหรือประโยชน์อื่นใดในลักษณะ ทำนองเดียวกับเงินจองที่ไม่ใช่เงินมัดจำหรือเงินดาวน์เพื่อเป็นประกันว่าผู้บริโภคจะมาทำสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายต่อไป ทั้งนี้ ให้รวมถึงการขายห้องชุดที่มีการจองผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 

“แบบสัญญาท้ายประกาศ” หมายความว่า แบบสัญญามาตรฐานสัญญาจองห้องชุดท้ายประกาศนี้

ทั้งนี้ตามร่างประกาศได้กำหนดให้สัญญาจองห้องชุดที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อความเป็นภาษาไทย ที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร โดยมีจำนวนตัวอักษร ไม่เกิน 11 ตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ตามแบบสัญญา ท้ายประกาศนี้


ส่วนข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคตามแบบสัญญาท้ายประกาศนี้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีความหมายทำนองเดียวกัน ดังต่อไปนี้

  1. ข้อสัญญาที่เป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ
  2. ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงสัญญาหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญา ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา
  3. ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจบอกเลิกสัญญากับผู้บริโภค โดยไม่ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือ หรือโดยผู้บริโภคมิได้ผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญข้อใดข้อหนึ่งในสัญญา
  4. ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจริบเงินทั้งหมด หรือบางส่วน เว้นแต่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญา
  5. ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจในการที่จะกำหนดให้เงินจอง หรือประโยชน์อื่นใด ในลักษณะทำนองเดียวกับเงินจองที่ไม่ใช่เงินมัดจำหรือเงินดาวน์ในสัญญา เป็นเงินมัดจำหรือเงินดาวน์
  6. ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจในการเรียกเก็บเงินค่าโอนสิทธิการจองซื้อห้องชุดจากผู้บริโภค
  7. ข้อสัญญาที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินส่วนกลาง
  8. ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจจัดเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ของผู้บริโภคโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตามสัญญาจองห้องชุด ต้องจัดทำขึ้นสองฉบับซึ่งมีข้อความถูกต้องตรงกันโดยผู้ประกอบธุรกิจ ส่งมอบสัญญาจองห้องชุดหนึ่งฉบับตามแบบสัญญาท้ายประกาศนี้ให้แก่ผู้บริโภคทันทีที่ได้ลงนามในสัญญา กรณีการขายห้องชุดที่มีการจองผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วย ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนด

รวมทั้งกรณีการขายห้องชุดที่มีการจองผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องจัดให้มีข้อความ ภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจนตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนด และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญ และเงื่อนไข ตามแบบสัญญาท้ายประกาศนี้

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุว่า ประกาศฉบับนี้จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากขึ้น เกี่ยวกับสัญญาการขายห้องชุดที่มีการจอง หากใครที่ทำผิดกฎหมายจะมีความผิดตามกฎหมายของ สคบ. โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ