ช่วงโค้งสุดท้ายปี2567 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ยังเผชิญกับความท้าทาย จากเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลถึงผู้บริโภคไม่มั่นใจ นำเงินออกจับจ่าย แม้ว่า รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารลดดอกเบี้ยลง รวมถึงผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด แต่มองว่า ในภาพรวมมาตรการที่ออกมา ไม่มีแรงสนับสนุนเพียงพอต่อการซื้อที่อยู่อาศัย มากนัก
ในมุมกลับ ที่น่ากังวล เรื่องภาระหนีครัวเรือนที่สูง การเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง มีผลต่อสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ และแม้ว่า ผู้บริโภคบางรายต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง แต่ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านด่านโหดหินของธนาคารก่อน
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ใช้กลยุทธ์เจาะตลาดลักชัวรี กันมากซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดี มียอดขายเป็นกอบเป็นกำเพราะ ราคาขายต่อหน่วยที่สูง แต่ตลาดกลุ่มนี้ไม่ใหญ่นัก และมีผู้เล่นลงสนามแข่งค่อนข้างล้นหลาม
สะท้อนจากผลประกอบการ 9 เดือน หรือ3ไตรมาส ที่ออกมา พบว่า ผู้ประกอบการ มีรายได้เฉลี่ยลดลง และประเมินว่าในไตรมาสสุดท้ายหรือไตรมาส4 น่าจะไม่กระเตื้องต้องอาศัย กิจกรรมส่งเสิรมการตลาดที่รุนแรง และต้องรอดูมาตรการรัฐที่จะออกมากสนับสนุนช่วงท้ายปี2567ไปจนถึงปีใหม่ปี2568
แม้เมื่อไม่นานมานี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มผ่านมาตรการกระทรวงการคลังผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) โครงการสินเชื่อพิเศษ “ซื้อ –สร้าง- ซ่อม- แต่ง” วงเงินรวม 5.5หมื่นล้านบาท และ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้บ้าน-รถ - ธุรกิจ SMEs (ตีกรอบค้างไม่เกิน 1 ปี พักชำระดอกเบี้ยชั่วคราว 3 ปี ยืดเวลาด้วยการลดผ่อนชำระ 50% ) ส่วนอีกก๊อก รอครม.เห็นชอบ มาตรการต่ออายุลดค่าโอน-จดจำนอง ลงเหลือรายการละ0.01% ที่จะหมดอายุลงสิ้นปีนี้
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ (Property DNA) สะท้อนว่า แนวโน้มในไตรมาส 4 ปี 2567 คาดการณ์ว่ากำลังซื้ออาจไม่ได้รับผลกระตุ้นมากนัก แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยลดลง แต่มองว่าปัญหาการอนุมัติสินเชื่อยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย
เนื่องจากสถาบันการเงินมีการเข้มงวดในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังคงพยายามตรึงราคาขายและออกมาตรการช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านเพื่อสนับสนุนกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการซื้อจริง
สะท้อนได้จากผลประกอบการ9เดือน ซึ่งมองว่า หลายค่ายมีรายได้เป็นบวก แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อาจมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่มากรวมถึงกำไรและหลายรายมีตัวเลขที่ลดลงมองว่า ตลอดอสังหาริมทรัพย์ยังเผชิญกับความท้าทายตามมาอีกมาก โดยเฉพาะความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นหลัก
เช่นเดียวกับ นาย พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงโค้งสุดท้ายปี แม้จะได้แรงส่งจาก มาตรการรัฐและการลดดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน แต่หาก สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อกำลังซื้ออ่อนแอก็มีผลกระทบตลาดแน่นอน
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัท วิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง แนวโน้มการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2567 ว่าจะปรับตัวลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าการเปิดตัว โดยคาดว่าจะมีจำนวนหน่วยเปิดตัวลดลงประมาณ 10% - 40%
ในขณะที่มูลค่าจะลดลงประมาณ 10% - 30% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยคาดว่าจะมีจำนวนหน่วยเปิดตัวในปี 2567 ที่ 59,000 - 79,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 380,000 - 489,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อชะลอตัว
ถึงแม้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50% เป็น 2.25% เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็ตาม มองว่า มาตรการต่างๆรัฐและสถาบันการเงินลดดอกเบี้ย ไม่ช่วยกระตุ้นมากนัก