นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) "EP" เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มภาคเอกชนไทยได้มีการประชุมร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเวียดนามในเรื่องการเจรจาราคาค่าไฟฟ้า และการเสนอราคาชั่วคราว ซึ่งผลการเจรจาไปในทิศทางที่ดี
ทำให้เกิดการเร่งรัดให้มีการออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า (EGL) ให้เร็วที่สุดโดยไม่ต้องรอผลการเจรจาค่า FIT ใหม่ และให้เร่งรัดการจ่ายไฟฟ้าทันที สำหรับโครงการที่ได้รับ EGL แล้ว
โดยเสนอให้นักลงทุนรับค่าไฟฟ้าจากทาง EVN ในอัตรา 50% ของราคาสูงสุดที่ได้มีการประกาศไว้ ที่ 6.9 US cent และเมื่อได้ผลสรุปราคา FIT ทาง EVN ก็จะจ่ายคืนส่วนต่างทั้งหมดให้ ซึ่งจะทำให้โครงการของ EP ทั้ง 4 โครงการ สามารถเชื่อมต่อและจ่ายไฟฟ้าได้ทันที
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิตรวม 160 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม ประกอบด้วย
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ทุกโครงการแล้ว มีความพร้อมที่จะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีที่ได้รับการอนุมัติการเชื่อมต่อจากทาง EVN คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ (COD) ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 เป็นต้นไป
"การที่ทางรองนายกฯเวียดนามได้มีข้อเสนอการจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราชั่วคราว เนื่องจากในช่วงเดือนกรกฎาคม ทางเวียดนามจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก และกำลังผลิตที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ทำให้มีโอกาสขาดแคลนไฟฟ้าขึ้น จึงจะต้องเร่งสรุปให้มีการจ่ายไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วโดยเร็วที่สุด" นายยุทธ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกปี 66 รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าอยู่ที่ 38.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.02% จากงวดเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 20.93 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากการติดตั้ง "Solar rooftop" เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2566 บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้รวมปีนี้จะเติบโตมากกว่า 50% โดยเฉพาะธุรกิจโรงไฟฟ้าคาดว่าจะมีการเติบโตรายได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า เนื่องจากจะมีรายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในพอร์ตลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ในส่วนของการขายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเมื่อปลายปี 2564 ซึ่งทางผู้ซื้อได้มีการหักเงินจากมูลค่าซื้อขายไว้บางส่วน อันเนื่องมาจากการที่บริษัท PPTC และ SSUT มีคดีเรียกร้องความเสียหายจากทางกลุ่มผู้รับเหมานั้น
ทางอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดออกมาให้ทาง PPTC และ SSUT ได้รับเงินชดเชยความเสียหาย จากทางกลุ่มผู้รับเหมา รวม 534.52 ล้านบาท ในขณะที่ค่างวดก่อสร้างค้างจ่ายที่ได้บันทึกบัญชีไว้แล้ว ทางอนุญาโตตุลาการ ก็มีคำชี้ขาดให้ทาง PPTC และ SSUT จ่ายคืนแก่กลุ่มผู้รับเหมาในจำนวนรวมที่ต่ำกว่าที่บันทึกบัญชีเอาไว้
โดยทาง PPTC และ SSUT ได้ยื่นคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดไปแล้ว โดยทางกลุ่มผู้รับเหมาได้ใช้สิทธิในการฟ้องร้องเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวต่อศาลแพ่ง และเรื่องทั้งหมดกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา
ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ทาง EP จะได้รับเงินที่หักสำรองไว้คืน พร้อมกับเงินส่วนเกินทั้งหมดที่ได้มาจากการเรียกร้องจากกลุ่มผู้รับเหมา และส่วนต่างของค่างวดที่ต้องจ่ายจริง ที่ต่ำกว่าที่ได้บันทึกบัญชีไว้ รวมทั้งสิ้นกว่า 800 ล้านบาทอีกด้วย