นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผ่านรายการ "กรุงเทพธุรกิจ Biz Insight" ถึงกรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga" เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2566 ว่า ลดค่าไฟ/ลดดีเซลมาหลายเดือนแล้วและต่ออีกสี่เดือน สภาอุตสาหกรรมมีมาตรการในการลดราคาสินค้าให้ประชาชนอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ส่วนตัวต้องให้กำลังใจถึงเจตนาดีของ รมว.พลังงาน สะท้อนให้เห็นว่าเข้ามาดำรงตำแหน่งไม่ถึง 4 เดือน ก็มีมาตรการในการตรึงราคาดีเซล ไฟฟ้า โดยสิ่งที่สะท้อนภาพชัดเจนคือ ต้องยอมรับว่าเจตนาของทางรัฐบาลมีเจตนาดีที่จะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนอยากจะนำเสนอมี 3 หัวข้อ ได้แก่ 1. ราคาสินค้าควบคุมกับต้นทุนค่าไฟฟ้าและพลังงานของปี 2565 กับต้นปี 2567 จึงต้องการชี้แจงว่า ราคาพลังงานขณะนี้หากเทียบกับราคาพลังงานเมื่อปี 2565 ราคาค่าไฟฟ้า 1 ปี มี 3 งวด โดยปี 2564 ค่าไฟฟ้าประมาณ 3.78 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ปี 2565 มีการปรับขึ้นตลอดทั้งปี แม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกมาตรการลดราคาจากที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศแล้วก็ตาม
"ตอนนี้ค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 แม้กกพ. จะประกาศออกมาที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างหาเงินสนุบสนุนและยืนยันว่าจะไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย แต่มองว่าไม่ควรเกิน 4.10 บาทต่อหน่วย เพราะราคานำเข้า LNG วันนี้ลดลงแล้ว"
นอกจากนี้ จากการที่ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 เอกชนก็ไม่ได้มีการปรับราคา อีกทั้งยังมีกระทรวงพาณิชย์ดูแล ไม่ใช่เรื่องง่ายในการจะปรับราคาเพราะมีกลไกในการดำเนินการ สามารถตรวจสอบได้ กลับกันหากมองราคาพลังงานปัจจุบันถือว่าแพงกว่า ณ ต้นปี 2565 ดังนั้น เมื่อรมว.พลังงานบอกว่าตรึงราคาดีเซลแล้วไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมถึงตรึงราคาไฟฟ้าแล้ว ก็ยังสูงกว่าปี 2565 ในขณะที่ดูราคาสินค้าไม่มีการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนพลังงาน
"ที่ผ่านมาเอกชนต้องขาดทุนในเรื่องของกำไร เพราะต้นทุนผลิตด้านพลังงานเพิ่มขึ้นต่อให้กลับมาที่ 4 บาทต้น ๆ ก็ยังแพงกว่าปี 2565 อยู่ดี ดังนั้นอย่าทำให้ประชาชนหลงประเด็น แม้เจตนาจะดีแต่กลไกมีหลายเรื่อง ต้นทุนวัตถุดิบสินค้าบางอย่างก็ขึ้นเพราะนำเข้าจากต่างประเทศ"
2. บทบาทภาครัฐระดับนโยบายกับภาคเอกชนที่มีกลไกตลาดแข่งขันเสรีเป็นตัวขับเคลื่อน จะเห็นได้ว่า ราคานำเข้า LNG ปัจจุบันเหลือที่ 11.5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ถือว่าลงมาจากเดือนธ.ค. 2566 ที่ราคา 14 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เพราะประเทศใหญ่ ๆ อย่าง อเมริกา จีน และยุโรป ไม่มีความต้องการใช้สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจไม่ดี แต่ทำไมค่าไฟงวดที่ 1/2567 ยังสูงในเมื่อพลังงานราคาลดลงเกือบใกล้กับก่อนหน้าที่เจอวิกฤติ
นอกจากนี้ เมื่อช่วงวิกฤติยังผ่านมาได้ดี หากจะเดินหน้าต่อขอให้ดูความเป็นจริงว่าจะเดินไปข้างหน้า รัฐบาลต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุโดยใช้ก๊าซธรรมชาติ 65% ในการผลิตไฟฟ้า รัฐบาลเพิ่งจะแตกปัญหาได้จากสิ่งที่หลายภาคส่วนสะท้อนออกไป จึงอยากให้เปิดใจหารือร่วมกันผ่าน กรอ.พนักงาน
อย่างไรก็ตาม เอกชนขับเคลื่อนโดยกลไกเสรี อยู่ดี ๆ จะไปขึ้นราคาสินค้าคงเป็นไปไม่ได้เพราะอยู่ในตลาดแห่งการแข่งขันเสรี มีคู่แข่ง ประชาชนจะเป็นผู้เลือก ส.อ.ท ผลักดันนโยบาย ESG โดยการทำธุรกิจต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ดังนั้น ภาคนโยบายต้องเข้าใจโจทย์หากแก้ที่ต้นตอจริง ๆ วันนี้ความเหลื่อมล้ำในสังคม ทุนผูกขาดและอีกหลายเรื่องจะต้องแก้ไข
3. ทำไมต้องมาลุ้นค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน หากรัฐบาลแก้ไขตรงจุด ก็ไม่ต้องมีการทะเลาะกัน เอกชนพร้อมให้ความร่วมมือ เอกชนมีกรอ.พาณิชย์ กรอ.เกษตร ได้มีการหารือและร่วมกันในการแก้ปัญหาเพื่อความยั่งยืน ดังนั้นกระทรวงพลังงานกลัวอะไร ปฏิเสธกรอ.พลังงาน ปฏิเสธเวทีพูดคุยกัน ดังนั้น คิดว่าถ้าเจตนาดีจะมาแก้ปัญหาที่เหมาะสมมาหลายปี
ทั้งนี้ หากเปิดใจรับฟังความคิดของเอกชนที่มองส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ด้วยกันแล้วเอาเวทีมาหารือ ไม่ใช่มาโต้ตอบผ่านโซเชียลมีเดีย ยืนยันว่า ราคาสินค้าวันนี้เป็นอำนาจของประชาชน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงมากทั้งในและนอกระบบ หากแก้ที่ต้นตอของสาเหตุ อยู่ที่ทุนผูกขาดไม่กี่ราย ประเทศไทยยังมีเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างเศรษฐกิจ
"เห็นอาหาร Street Food ทุกวันนี้ขึ้นทีละ 5-10 บาท ขึ้นแล้วไม่ลง สะท้อนภาพค่าครองชีพของประชาชน ถ้าราคาค่าไฟต่ำกว่าปี 2565 ราคาสินค้าก็อาจจะลดลงตาม เพราะผู้ประกอบการจะแข่งขันกัน ในการลดราคาสินค้าอยู่แล้ว ซึ่งวันนี้เกิน 4 บาทต่อหน่วย ยังถือว่าสูง จึงคิดว่าท่านอย่าหลงประเด็นควรเอาข้อมูลมาคุยกัน ประชาชนเดือดร้อนเรื่องค่าครองชีพ ทุกคนลงเรือลำเดียวกัน จึงคิดว่าอย่าเอาปัญหามาโต้แย้งผ่านโซเชียลมีเดีย"