วันนี้ (18 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำปาว เขื่อนห้วยแม่ท้อ และเขื่อนกระเสียว กำลังผลิตติดตั้งรวม 6.75 เมกะวัตต์ โดยมีวงเงินขออนุมัติ 959.76 ล้านบาท
ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการที่มีวงเงินขออนุมัติ 959.76 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เงินตราต่างประเทศ 243.83 ล้านบาท และ เงินบาท 715.93 ล้านบาท โดยให้สามารถเกลี่ยงบประมาณระหว่างโครงการได้ และให้ถือว่า กฟผ. ได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อการลงทุนตามแผนการประมาณการเบิกจ่ายประจำปี 2567 ตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำปาว เขื่อนห้วยแม่ท้อ และเขื่อนกระเสียว เป็นโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (แผน PDP2018 Rev.1) ซึ่งทั้ง 4 โครงการเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ติดตั้งท้ายเขื่อนของกรมชลประทาน
โดยเป็นการดำเนินการร่วมกับเขื่อนเพื่อให้สามารถบริหารการจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักเดิมของการสร้างเขื่อน รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดและมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของทั้ง 4 โครงการ โดยคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาดังกล่าวแล้ว รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
วัตถุประสงค์
เพื่อช่วยเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ภายในประเทศ และดำเนินการตามนโยบายภาครัฐตามแผน PDP2018 Rev.1 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย
แผนการเบิกจ่าย
แหล่งเงินโครงการ
เงินรายได้ของ กฟผ. 40% และแหล่งเงินทุนอื่น ๆ (เงินกู้) 60% โดย กฟผ. จะพิจารณาแหล่งเงินทุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายโครงการฯ ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายในส่วนเงินบาท ใช้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่งหรือหลายแหล่งรวมกันจากธนาคาร/สถาบันการเงินในประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนในประเทศ การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและเงินรายได้ของ กฟผ.
2. กรณีที่จำเป็นต้องใช้เงินตราต่างประเทศ ใช้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่งหรือหลายแหล่งรวมกันจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ธนาคาร/สถาบันเพื่อการนำเข้า-ส่งออก ธนาคาร/สถาบันการเงินต่างประเทศและ/หรือในประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนต่างประเทศ
การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม
1. โครงการฯ ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบในด้านต่าง ๆ ดังนี้
2. โครงการ ต้องจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมสำหรับการขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า (รายงานสิ่งแวดล้อมฯ) ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมสำหรับการขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2563
โดยปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคองและเขื่อนลำปาวได้รับความเห็นชอบรายงานสิ่งแวดล้อมฯ เรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนห้วยแม่ท้อและเขื่อนกระเสียวอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อม
ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ
1. เพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศตามแผน PDP2018 Rev.1 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดและในภูมิภาค ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นไปตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย
2. ประชาชนในประเทศได้ใช้พลังงานสะอาดที่มีเสถียร เนื่องจากสามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้รวดเร็วภายในเวลา 5 นาที และสามารถเพิ่มหรือลดพลังงานได้ตามความต้องการของระบบไฟฟ้า และไม่สางผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีข้อสังเกตว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การควบคุมการผลิตพลังงานไฟฟ้าในลักษณะดังกล่าวไม่สามารถคาดการณ์กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง
โดยในปี 2558 และปี 2566 ที่ผ่านมาเคยเกิดสถานการณ์ระดับน้ำในเขื่อนลำตะคองแห้งขอดเนื่องจากสภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้กรมชลประทานต้องลดการระบายน้ำออกจากเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงเก็บไว้ใช้เพื่อการเกษตร
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากกรณีดังกล่าว กฟผ. จึงควรจัดทำแผนรองรับกรณีดังกล่าวในอนาคต และควรศึกษาถึงศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสม รวมถึงสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและลักษณะทางกายภาพของแต่ละพื้นที่เพิ่มเติม เช่น โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม
โดยประเมินลกระทบและความเป็นไปได้ในการผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่นให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย