"พลังงาน" เล็งสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนลำตะคอง 1.5 เมกฯ

01 ก.ค. 2567 | 08:52 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2567 | 08:52 น.

"พลังงาน" เล็งสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนลำตะคอง 1.5 เมกฯ ชี้เป็นการเก็บเล็กผสมน้อยสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ ยันหนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดทุกประเภทตามแผน PDP2024

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์) ในการนี้ได้เข้าตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา พื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคอง อ่างพักน้ำตอนบนและกังหันลมบนเขายายเที่ยง จังหวัดนครราชสีมา ว่า  

กระทรวงพลังงานจะดำเนินงานสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนลำตะคอง โดยติดตั้งท้ายเขื่อนของกรมชลประทานขนาด 1.5 เมกะวัตต์ ซึ่งกระทรวงฯและกรมชลประทาน มีนโยบายนำน้ำที่ปล่อยจากระบบกรมชลประทานให้ได้ประโยชน์สูงสุด 


 

โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนเป็นการใช้เชื้อเพลิงน้ำมาผลิตไฟฟ้าแล้วปล่อยกลับลำรางสาธารณะเช่นเดิม ถือเป็นการเก็บเล็กผสมน้อยสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ต่าง ๆ 

"พลังงาน" เล็งสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนลำตะคอง 1.5 เมกฯ

ทั้งนี้ กระทรวงฯมีนโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดทุกประเภท ซึ่งจะเห็นได้จากแผน PDP2024 ที่มีการเพิ่มพลังงานสะอาดในสัดส่วนที่สูง ทั้งเชื้อเพลิงจากน้ำและโซลาร์เซลล์ เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050

สำหรับโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนานั้น เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ มีลักษณะเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย อยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 350 เมตร มีขนาดกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ โดยสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนกรมชลประทาน ไปเก็บไว้ที่อ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยง ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำได้ 10.3 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยหรือช่วงกลางคืนถึงเช้า 
 

และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงกลางวันถึงค่ำ จะปล่อยน้ำเพื่อผลิตและปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเหมือนเดิม โดยศักยภาพพื้นที่อ่างเก็บน้ำตอนบน สามารถขยายเพื่อเพิ่มศักยภาพระบบกักเก็บพลังงาน ขนาดความจุ 3.3 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเสริมการผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้
 
ส่วนอ่างเก็บน้ำตอนบน และกังหันลมบนเขายายเที่ยง เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อช่วยเสริมความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้า โดยมีกังหันลมจำนวน 14 ต้น กำลังผลิตติดตั้งรวม 26.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นขนาดกำลังผลิตต้นละ 1.25 เมกะวัตต์ จำนวน 2 ต้น และขนาดกำลังผลิตต้นละ 2 เมกะวัตต์ จำนวน 12 ต้น ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมาสร้างรายได้ให้กับชุมชน